xs
xsm
sm
md
lg

ครม.จัดให้ชาวนา อนุมัติเพิ่ม 2.8 หมื่นล้านประกันรายได้ เคาะ 2 โครงการช่วย SMEs

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผยข่าวดีชาวนาได้เฮ ครม.อนุมัติเพิ่ม 2.8 หมื่นล้าน โครงการประกันรายได้ปี 63/64 เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยแน่นอน พร้อมอนุมัติ 2 โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ช่วย SMEs เพิ่มสภาพคล่อง

วันนี้ (1 ธ.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ว่า เพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 63/64 เป็นไปอย่างครบถ้วนแก่เกษตรกรที่มีสิทธิทุกราย วันนี้ ครม.จึงมีมติอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 28,711.29 ล้านบาท เป็นการเพิ่มเติมจากเดิมที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 18,096.06 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี63/64 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 46,807.35 ล้านบาท สำหรับวงเงินเพิ่มเติมที่ ครม.อนุมัติในวันนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1) ค่าดำเนินการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาเกณฑ์อ้างอิง โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 28,078.44 ล้านบาท จากเดิม 17,676.54 ล้านบาท รวมเป็น 45,754.98 ล้านบาท 2) ค่าใช้จ่ายในการชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส.ในอัตราร้อยละ 2.25 วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 631.76 ล้านบาท จากเดิม 397.72 ล้านบาท รวมเป็น 100 29.49 ล้านบาท 3) ค่าบริหารจัดการ ธ.ก.ส. วงเงินเพิ่มเติมจำนวน 1.09 ล้านบาท จากเดิม 21.8 ล้านบาท รวมเป็น 22.88 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชย จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 โดยจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรในงวดที่ 1 ครบถ้วนแล้ว และงวดที่ 2 บางส่วน สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 1,429,135 ครัวเรือน เป็นเงิน 15,260.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.3 ของวงเงินงบประมาณเงินชดเชยที่ ครม.เคยอนุมัติไว้เดิม อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามสิทธิสำหรับเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 15-29 พฤศจิกายน 2563 (งวดที่ 2 บางส่วน และงวดที่ 3-4) อีกจำนวน 2,905,043 ครัวเรือน เป็นเงิน 26,605.61 ล้านบาท และเกษตรกรที่ระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวหลังวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 (งวดที่ 5-30) อีก 487,370 ครัวเรือน ผลผลิตรวม 2,894,905 ตัน คาดว่าจะใช้วงเงินงบประมาณ 3,888.82 ล้านบาท ซึ่งวงเงินชดเชยดังกล่าวอยู่ในกรอบวงเงินเพิ่มเติมที่ ครม.อนุมัติในวันนี้เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้เกษตรกรมั่นใจว่า จะได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามสิทธิ์อย่างแน่นอน

น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์และการดำเนินมาตรการคู่ขนานที่ควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 63/64 รวม 3 โครงการ คือ (1 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย. 63 - 29 ก.พ. 64 (2 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ต.ค. 63 - 30 ก.ย. 64 และ (3 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย. 63 - 31 มี.ค. 64 ให้ผู้ประกอบการเก็บข้าวไว้ระยะเวลา 2-6 เดือน และจะได้รับชดเชยดอกเบี้ย 3% ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้จะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดมาก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก

นอกจากนี้ สำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 63/64 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและกระตุ้นให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี ในอัตราไร่ละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น วันนี้ (1 ธันวาคม 2563) ธ.ก.ส.ได้เริ่มจ่ายเงินค่าบริหารจัดการฯ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวงวดแรกไปแล้วจำนวนกว่า 400,000 ครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 1,600 ล้านบาท

อีกประการหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ คือ การส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ข้าวและการผลิตพันธุ์ข้าว ซึ่งวันนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 1,600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุกศูนย์ทั่วประเทศ

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMES) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (โครงการ PGS ระยะที่ 9) วงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 24,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 (โครงการ Micro 'Entrepreneurs ระยะที่ 4) วงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 5,750 ล้านบาท รวม 2 โครงการ ในงบประมาณ 29,750 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เสนอมาตรการ 2 มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รายละเอียดดังนี้

- โครงการ PGS ระยะที่ 9 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป สร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพที่ต้องการสินเชื่อแต่หลักประกันไม่เพียงพอให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ วงเงินค้ำประกันโครงการรวม 150,000 บาท วงเงินค้ำประกันต่อราย ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน) ที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit : SGL) ของ บสย. การยื่นขอให้ค้ำประกัน ขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามที่ บสย.กำหนด ทั้งนี้ รัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ SMEs ปีละไม่เกินร้อยละ 1.75 เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือไม่เกินร้อยละ 3.5 ตลอดอายุการค้ำประกัน

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 42,500 ราย (เฉลี่ย 3.5 ล้านบาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 225,000 ล้านบาท (1.5 เท่าของวงเงินค้ำประกันโครงการ) มีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35

- โครงการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอื่นที่มีสถานประกอบการชัดเจนและประกอบธุรกิจจริง ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินเป็นการลดต้นทุนการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการรายย่อยและช่วยแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ มีวงเงินค้ำประกันโครงการรวม 25,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย (รวมทุกสถาบันการเงิน) ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนด SGL ของ บสย. การยื่นคำขอค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปีตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการรายย่อยปีละไม่เกินร้อยละ 1.5 เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือไม่เกินร้อยละ 3 ตลอดอายุการค้ำประกัน

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย (เฉลี่ย 250,000 บาทต่อราย) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 25,000 ล้านบาท (1 เท่าของวงเงินวงเงินค้ำประกันโครงการ)

“ทั้ง 2 โครงการ ระยะเวลารับคำขอค้ำประกัน 2 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ อายุการค้ำประกัน ไม่เกิน 10 ปี โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อยแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละสถาบันการเงิน หรือโครงการย่อยแต่ละโครงการได้ตามความเหมาะสม “ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเสริมสภาพคล่อง สร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หรือมีความเสี่ยงในการชำระหนี้คืน ให้สามารถเข้าสินเชื่อ เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้” โฆษกรัฐบาลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น