รมช.แรงงานเผย เดินหน้าประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม ฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง หวังสร้างอาชีพ ให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า กระทรวงแรงงาน และกระทรวงยุติธรรม มีความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานและจัดหางานให้แก่ผู้ที่อยู่ในขั้นตอนในการพัฒนานิสัย ที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์และกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก ให้สามารถอยู่ในสังคมได้เมื่อพ้นโทษแล้ว ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการให้โอกาสและสร้างความเสมอภาคในสังคม กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงรับนโยบายดังกล่าวมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านอาชีพแก่ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ และการดำเนินงานดังกล่าวสอดรับกับแนวคิด “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” นั่นคือ ให้โอกาสแก่กลุ่มเปราะบาง เข้าถึงบริการของรัฐได้มากขึ้น ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ
รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า ในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ผู้ต้องขังและเยาวชนในสถานพินิจ จำนวน 1,880 คน โดยมอบหมายให้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ตั้งอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประสานกับเรือนจำจังหวัดและสถานพินิจ เพื่อบูรณาการร่วมกัน คัดเลือกผู้ต้องขังหรือเยาวชนในสถานพินิจ เข้าฝึกอบรมด้านอาชีพ เพื่อให้มีความรู้และทักษะฝีมือ นำไปประกอบอาชีพอิสระได้หลังพ้นโทษแล้ว หลักสูตรการฝึกเป็นหลักสูตรระยะสั้น 3-5 วัน เข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน อีกทั้งเป็นทักษะฝีมือที่ตลาดแรงงานต้องการ เช่น ช่างปูกระเบื้อง ช่างประกอบโครงอลูมิเนียม ช่างปูนไม้เทียม ช่างก่ออิฐ-ฉาบปูน ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ผู้ประกอบอาหารไทย การทำขนมไทย การทำเบเกอรีและขนมอบ ศิลปะประดิษฐ์ เป็นต้น
ปัจจุบัน มีการปรับหลักสูตรการฝึกให้เหมาะกับสถานการณ์และเทคโนโลยี อาทิ การขายสินค้าออนไลน์ และทักษะด้านภาษา เพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานทำทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ระหว่างวันที่ 17-30 พ.ย 2563 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานตาก เปิดฝึกอบรม หลักสูตร ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานและภาษาจีนกลางเพื่อการสื่อสาร ให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำกลางจังหวัดตาก และเรือนจำแม่สอด อบรมระหว่างวันที่16-25 พ.ย. 2563 นอกจากนี้ ยังมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร กำหนดจัดฝึกอบรม ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ให้แก่ผู้ต้องขังหญิง จำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 – 4 ธันวาคม 2563 ณ ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เขตบางบอน กรุงเทพ
“การสานต่อความร่วมมือดังกล่าว เพื่อสร้างความเสมอภาคให้แก่แรงงานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การเปิดโอกาสรับแรงงานกลุ่มนี้เข้าทำงาน จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้ง ให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ที่ต้องการกลับตัว สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติและลดการกระทำผิดซ้ำ” รมช.กล่าวทิ้งท้าย