นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ ไทยพร้อมเสริมสร้างความร่วมมือกับเอเปก เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์โควิดและครอบคลุม พรุ่งนี้มีคิวเตรียมร่วมการประชุมผู้นำเขต ศก.เอเปก ครั้งที่ 27 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ
วันนี้ (19 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงปาฐกถาผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประชุม APEC CEO Dialogues ในหัวข้อ “บทบาทอาเซียนในอนาคตของเอเปก” (ASEAN’s Place in APEC’s Future)
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมมาเลเซียในฐานะเจ้าภาพเอเปกในปีนี้ ที่ยังคงมุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง แม้ปีนี้สมาชิกเอเปกจะต้องเผชิญกับบททดสอบสำคัญ คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ชีวิต ธุรกิจ การงาน และความเป็นอยู่ของประชาชนเสียหาย และแม้ว่าปีนี้ ค.ศ. 2020 เป็นจุดสิ้นสุดของเป้าหมายโบกอร์ และเอเปกจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโบกอร์ได้ทั้งหมดตามที่เราตั้งใจไว้ แต่เอเปคได้พัฒนามาไกลมากจากจุดเริ่มต้น และมีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนกรอบความร่วมมือใด
ประเทศไทย ในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้งกรอบเอเปกและอาเซียน ขอร่วมหาจุดร่วมที่ทั้งสองกรอบความร่วมมือจะส่งเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน ในวันนี้เอเปกและอาเซียนมองไปที่จุดหมายเดียวกัน คือ การสร้างการเจริญเติบโตและความมั่งคั่งเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่เขตเศรษฐกิจใดเขตเศรษฐกิจหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง ไม่ว่าจะเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจ โรคระบาด รวมทั้งปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เอเปคและอาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือที่ยืนหยัดผ่านช่วงเวลาต่างๆ มาได้ และยังคงสถานะการเป็นกรอบความร่วมมือชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์ในการมองไปข้างหน้าและการสร้างจิตวิญญาณความร่วมมือที่ตอบสนองต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางสาธารณสุข รวมถึงความมั่นคงทางอาหารและสินค้าจำเป็น ทำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องประชาชนซึ่งต้องแลกมาด้วยการตัดขาดความเชื่อมโยง และความชะงักงันของการค้าและการลงทุนที่เป็นหัวใจของการเจริญเติบโตและความมั่งคั่ง ทำให้ธุรกิจเกิดการสูญเสียงาน สูญเสียรายได้ และผลักให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาปากท้องและความยากจน ผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันในรูปแบบของพลังประชารัฐ (Public-Private-People Partnership: PPPP) เพื่อสร้างเอเชีย-แปซิฟิกใหม่ที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเอเปคและอาเซียน สร้างความร่วมมือที่สอดคล้องและก้าวไปข้างหน้าโดยเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทาง ดังนี้
หยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรับมือกับผลกระทบในระยะสั้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือและข้อริเริ่มต่างๆ ของเอเปกและอาเซียน โดยเสนอให้เชื่อมโยงข้อริเริ่มบางส่วนของกรอบทั้งสองเข้าด้วยกัน พร้อมอาศัยความเชื่อมั่นและแรงผลักดันจากภาคธุรกิจกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานให้เกิดขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก หรือเอแบก และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน หรืออาเซียนแบก จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
ต้องเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าโลกกลับมาใหม่ ในบริบทของโลกหลังโควิด-19 ผมเห็นว่าเราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การสร้างความเชื่อมโยง ที่ไร้รอยต่อในทุกมิติ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และการสร้างความหลากหลายของห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งอาเซียนและประเทศไทยจะสามารถมีส่วนช่วยเติมเต็มให้กับความร่วมมือในเอเปกได้เป็นอย่างมาก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วน ทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ระหว่างสมาชิกอาเซียน กับประเทศคู่ภาคี 5 ประเทศ ส่งผลให้ RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก
นายกฯ กล่าวอีกว่า การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยแต่ละเขตเศรษฐกิจจะต้องปรับกระบวนทัศน์เรื่องการเจริญเติบโตใหม่ ต้องสนับสนุนจุดแข็งให้เป็นจุดเด่นและมีความเข้มแข็งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเสริมศักยภาพและบริหารจัดการกับจุดอ่อน ให้สามารถยืนหยัดและมีภูมิต้านทานต่อความท้าทายใหม่ๆ ภาคเอกชนต้อง ผ่านการปรับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ กลุ่มที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ MSMEs สตรี เยาวชน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันเพื่อให้การสนับสนุนพวกเขาในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างจุดแข็งสำคัญของไทย 2 ประการ ที่ช่วยให้ไทยประคองตัวในช่วงวิกฤติครั้งนี้ได้ ได้แก่ ภาคการเกษตรที่เข้มแข็งของไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่เสริมความเข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสามารถมีผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก และระบบสาธารณสุขของไทยที่มีความพร้อมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ โดยในการรับมือและป้องกันการระบาดของโควิด-19 มีรากฐานที่สำคัญมาจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ด้านดังกล่าว
นอกจากนี้ ไทยยังยินดีที่ผู้นำเอเปคจะได้ร่วมรับรองปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปกภายหลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจะกำหนดทิศทางความร่วมมือต่อไปในอีก 20 ปีข้างหน้า และในฐานะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ค.ศ. 2022 ไทยจะสานต่อประเด็นความร่วมมือที่สำคัญจากมาเลเซียและนิวซีแลนด์ และวาระการเป็นเจ้าภาพอาเซียนของไทยเมื่อปี ค.ศ. 2019 และจะเชื่อมโยงการดำเนินการของเอเปกกับกรอบความร่วมมือระดับต่างๆ ในภูมิภาค ทั้งอาเซียน ACMECS และ BIMSTEC ซึ่งไทยก็มีวาระจะเป็นประธานในปี ค.ศ. 2021-2022 รวมถึงจะร่วมมือกับเครือข่ายภาคเอกชนในกรอบเหล่านั้น ส่งเสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกันเพื่อนำมาซึ่งการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน และครอบคลุม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
สำหรับในวันพรุ่งนี้ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. นายกฯ มีกำหนดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 27 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกัน เวลา 21.00 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีปิดการประชุม โดยการประกาศรับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 27 ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์