xs
xsm
sm
md
lg

สกสว.เร่งแก้วิกฤตชาติ เรียนรู้ “โควิด-19” วิจัยสร้างนวัตกรรมเร่งฟื้นฟูสร้างชาติยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล
ในปัจจุบัน นับเป็นช่วงเวลาที่หลายภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชนอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วิกฤตโรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลกนับตั้งแต่ต้นปี ทุกภาคธุรกิจต้องระส่ำ และบางรายต้องปิดตัวลง ในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งวิกฤตชาติที่ต้องเร่งฟื้นฟู โดยเฉพาะด้านของเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณผลกระทบให้เห็นแล้ว

ด้วยวิกฤตดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าในขณะนี้จะมีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่กลับมาเป็นปกติ 100% จึงทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างหาแนวการบริหารฟื้นฟูด้วยวิธีการต่างๆ ในภาคธุรกิจ รวมถึงภาคสังคมให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตอย่างปกติ ทั้งการสร้างรายได้ การจ้างงาน เพื่อกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ซึ่งในโลกยุคใหม่ การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศ คือปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ

เช่นเดียวกับ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” หรือ สกสว. ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีพันธกิจหลักในการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ นโยบาย นวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงสร้างการพัฒนานักวิจัยและองค์กรวิจัย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของประเทศ ได้เร่งเครื่องพัฒนาขีดความสามารถในการแก้วิกฤตชาติ ทั้งยังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย

สะท้อนมุมมองจากรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ที่ระบุว่า ตามที่ สกสว. มีแผนงานต่อเนื่องตามแผนด้าน ววน. พ.ศ.2563-2565 (ฉบับปรับปรุง) ใน 4 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1.การพัฒนากำลังคน 2.การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม มุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3.การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ SMEs Startup, Genomics และ BCG เพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม และ 4.การวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจนของประชาชน

นอกจากนี้ ในแผนดังกล่าวยังมี 16 โปรแกรมในการปฏิรูประบบ ววน. ด้วย แต่ด้วยสถานการณ์ “โควิด-19” นั้น สกสว.ได้เพิ่ม 1 โปรแกรม เป็นลำดับที่ 17 ในการแก้ไขวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ อันได้แก่ การวิจัยขั้นแนวหน้าและการพัฒนาระบบการสร้างความสามารถเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤต รวมถึงโครงการริเริ่มพิเศษและเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ประเด็น “โควิด-19” ทั้งยังสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพในการตอบสนองต่อการระบาดโควิด-19 แบบบูรณาการ ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมการแพทย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตวัคซีน และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ


ผู้อำนวยการ สกสว. ยังเผยอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น สกสว. จึงมีการปรับแผนการดำเนินการในปี 2563-2565 เพื่อจัดสรรงบประมาณมาร่วมแก้วิกฤตดังกล่าว โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยที่สามารถตรวจวินิจฉัย SARS-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time PCR ชุดตรวจแลมป์เปลี่ยนสีสำหรับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เพื่อใช้ในประเทศ และสร้างนวัตกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ การสนับสนุนการผลิตวัคซีน ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน

โดยในปี 2563 นั้น มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อมาดำเนินการดังกล่าวประมาณ 800 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2564 เบื้องต้นคาดว่าจะจัดสรรงบที่วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการหารือรายละเอียดในวันที่ 25 พ.ย.2563 นี้ เนื่องจากจะต้องมีการประเมินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงรับมือและเตรียมความพร้อมหากเกิดวิกฤตในระยะต่อไป ในส่วนของปี 2565 นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและจัดลำดับความสำคัญว่า จะดำเนินการโครงการใดต่อไปและอย่างไร

“ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤต โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจ ผลพวงจากโควิด-19 สกสว. จึงได้วางแนวทางเพื่อเร่งแก้วิกฤตเร่งด่วนของประเทศ และเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีความมั่งคั่ง ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าโควิด-19 ที่เกิดขึ้น กลายเป็นเรื่องดีที่ทำให้งานวิจัยมีความสำคัญ ทำให้สังคมได้รับรู้ว่า เรื่องของนวัตกรรมมีความสำคัญอย่างไร รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยี AI ที่ สกสว.ได้เร่งพัฒนาด้วยการเตรียมทีม เนื่องจากเรื่องนี้เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองด้วย” ผู้อำนวยการ สกสว. ออกความเห็น

ไม่เพียงเท่านั้น สกสว. ยังให้ความสำคัญกับประชาชนทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้มแข็ง ตอบสนองตลาดแรงงาน และบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การพัฒนาเมือง โดยเฉพาะการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสร้างวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดความน่าสนใจ สู่การสร้างรายได้ เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เชื่อมโยงการผลิตของประชาชนกับตลาดต่างๆ ทั้งนี้ สกสว. ได้เดินหน้าดำเนินการไปแล้ว 18 จังหวัด และเตรียมประเมินผลก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ของประเทศต่อไป

เรื่องทั้งหมดเหล่านี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและแก้ไขวิกฤตชาติ สอดคล้องต่อการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ พร้อมเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของ สกสว. ที่ได้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น