รมว.ดีอีเอส เผย ส.ส.-ส.ว.ยื่นตีความร่าง รธน.เป็นสิทธิ แจงยื่นศาล รธน. ทำคู่กับพิจารณาแก้ รธน.ในสภาได้ ปูด พบ 5 แสนโพสต์-แชร์ข้อความ ช่วงชุมนุมราษฎร 8-9 พ.ย.เตรียมตรวจสอบแยกแยะดำเนินคดีส่วนที่ผิดกฎหมาย
วันนี้ (10 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.45น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึง ส.ส.พรรค พปชร. และ ส.ว.บางส่วน เสนอญัตติเพื่อให้รัฐสภามีมติว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขธรรมนูญเพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เป็นเรื่องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร.ในฐานะ ส.ส.สามารถยื่นได้ รวมถึง ส.ส.ของพรรคที่ไปลงชื่อถือเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่ต้องเป็นมติพรรค เนื่องจากพรรคเปิดให้ทุกคนเป็นอิสระเพราะประเด็นการแก้ไขธรรมนูญมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก จึงมี ส.ส.ที่เสนอญัตติเพราะต้องการให้เกิดความชัดเจน ขณะที่กลไกของสภายังต้องเดินต่อไป แม้จะยื่นตีความแต่กระบวนการพิจารณาแก้ไขธรรมนูญก็ยังไม่หยุด โดยรัฐสภาจะมีการประชุมในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ส่วนใครจะยื่นก็ยื่นไปโดยทั้งสามารถทำคู่กันไปได้จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง แต่ต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ด้วย ส่วนที่มี ส.ว.ไปยื่นด้วยก็เป็นเรื่องของ ส.ว. ทั้งนี้ ในการประชุม ครม.ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีของพรรคก็ยังไม่ทราบเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการนำเรื่องเข้าสภาและตั้งกรรมาธิการ เดินตามกระบวนการเป็นช่องทางที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ฟังเนื้อหารายละเอียดอย่างครบถ้วน กระบวนการนี้ถือว่าดีที่สุดที่ทุกฝ่ายจะพูดคุย ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไรต้องไปดูจากที่ประชุมว่าเห็นชอบกับร่างแก้ไขฉบับใด
ผู้สื่อข่าวถามว่าการลงชื่อเพื่อยื่นให้ศาลตีความจะสวนทางกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วหรือไม่ แต่พุทธิพงษ์กล่าวว่า เป็นสิทธิของ ส.ส.และ ส.ว.จะยื่นตีความ ต้องดูประธานรัฐสภาหารือกับวิปทั้ง 4 ฝ่ายว่าจะมีข้อตกลงเรื่องการแก้ไขรัญธรรมนูญจะนำเข้าหารือในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้หรือไม่ หากเข้าก็ต้องเดินไปตามขั้นตอน
นายพุทธิพงษ์ยังกล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎรวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาที่อาจมีเนื้อหาในลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายว่า จากการตรวจสอบการใช้งานทางโซเชียลมีเดียพบว่ามีผู้เข้าข่ายกระทำผิดมากขึ้น โดยนับตั้งแต่วันที่ 8-9 พ.ย.นี้ที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบการเข้าใช้งานของทุกฝ่าย พบมีจำนวนโพสต์และแชร์ข้อความรวมประมาณ 5 แสนโพสต์ ทางกระทรวงดีอีเอสต้องไปตรวจสอบแยกแยะว่าโพสต์หรือแชร์ใดที่เข้าข่ายผิดกฎหมายบ้าง หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะต้องดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้เราปฏิบัติลักษณะนี้มาโดยตลอดไม่ได้เลือกปฎิบัติ