xs
xsm
sm
md
lg

กสม.จี้รัฐใช้ กม.เท่าที่จำเป็น ประกันสิทธิแกนนำที่ถูกคุมตัว แนะใช้หนทางรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.กสม. ขอรัฐบังคับใช้ กม.สถานการณ์ฉุกเฉินเท่าที่จำเป็น-ประกันสิทธิให้แกนนำที่ถูกควบคุมตัว แนะใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหามากกว่ายึดใช้มาตรการทาง กม.

วันนี้ (15 ต.ค.) นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกรณีการชุมนุมของกลุ่มประชาชนและนักศึกษาในนามคณะราษฎร ว่า กสม.พร้อมด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สังเกตสถานการณ์การชุมนุมตั้งแต่ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล อย่างใกล้ชิด จนกระทั่งรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และเข้ายุติการชุมนุมเมื่อช่วงเช้ามืดของวันนี้ รวมทัั้งควบคุมตัวแกนนำการชุมนุม ซึ่ง กสม.ได้มีการประชุมหารืออย่างเร่งด่วนเพื่อประเมินสถานการณ์ด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่าอาจจะมีแนวโน้มนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นและยึดมั่นในหลักสันติวิธีและความรับผิดชอบต่อสังคมเหมือนที่ผ่านมา

สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครนั้น กสม. เห็นว่า ประกาศดังกล่าวมีข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนมากกว่าในสถานการณ์ปกติ เพื่อความจำเป็นในการระงับเหตุที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งนี้ ตามหลักการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรการจำกัดสิทธิดังกล่าวควรใช้ในระยะเวลาที่จำกัดตามความจำเป็นของสถานการณ์ หากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวทันที ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น

สำหรับแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ โดยไม่ชักช้า พร้อมแจ้งสถานที่ควบคุมตัวให้แก่ญาติพี่น้องได้รับทราบ ซึ่ง กสม. กำลังติดตามประสานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้มีการดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

“กสม. เห็นว่า การใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหลักอาจไม่ใช่หนทางเดียวในการแก้ไขปัญหา ซึ่งกระบวนการในรัฐสภาควรเป็นหนทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ รวมทั้งควรเคารพความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ ตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนระหว่างกันเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข”


กำลังโหลดความคิดเห็น