“ศรีสุวรรณ” ร้อง สปน.ตรวจสอบ 151 องค์กรผู้บริโภค ยื่นขอจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 2 ปีตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ หวั่นเร่งจัดตั้งเพื่อเข้ามากินงบประมาณ หากตรวจพบว่าไม่ถูกต้องควรเพิกถอนและดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันนี้ (12 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ทำเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ขอให้ตรวจสอบ 151 องค์กรผู้บริโภค ที่มาแจ้งขอจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 63 ที่ผ่านมาว่าเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นที่ประจักษ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันยื่นแจ้ง ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างไร
ทั้งนี้ การที่จะใช้สิทธิเข้าชื่อกันแจ้งต่อทะเบียนกลางเพื่อเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น องค์กรผู้บริโภคนั้นๆ จะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนด แต่ปรากฏว่ามีตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่ไปยื่นต่อนายทะเบียนกลางเพื่อขอเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงเป็นที่สงสัยว่าองค์กรผู้บริโภคต่างๆ เหล่านั้น ได้ดำเนินการหรือมีผลงานในการคุ้มครองผู้บริโภคมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีอย่างไรบ้าง เพราะถ้าองค์กรต่างๆ เหล่านั้นมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จริงกันทุกองค์กร คงไม่มีปัญหาผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างแพร่หลายในขณะนี้ได้ และอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีสภาองค์กรผู้บริโภคก็ยังได้ เว้นแต่มีความพยายามที่จะจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
แต่หากพิจารณาต่อไปว่า เมื่อมีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้แล้ว กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรเงินจากภาษีประชาชนมาอุดหนุนไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นทุนประเดิมให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดำเนินการและให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรของผู้บริโภคอย่างทั่วถึง หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่การจัดทำแผนงบประมาณภาครัฐสนับสนุนในแต่ละปีต่อไป นี่จึงอาจเป็นเหตุผลในความพยายามที่จะจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคขึ้นมา โดยมีการระดมสรรพกำลังโดยใช้เงินภาษีบาป (ภาษีเหล้า-บุหรี่) ไปใช้ในการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว และสุดท้ายผู้ที่เป็นแกนนำก็อาจจะได้อานิสงส์ถูกเลือกเป็นประธานสภาฯ เป็นกรรมการสภาฯ ซึ่งสามารถใช้เงินภาษีของประชาชนได้อย่างเต็มที่
“ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความมาร้องปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบและขอหลักฐานยืนยันว่าองค์กรผู้บริโภคจำนวน 151 องค์กร ที่ได้แจ้งหรือประสงค์จะเข้าร่วมจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 63 ว่าเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นที่ประจักษ์มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีก่อนวันยื่นแจ้งอย่างไร ในกรณีที่เห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคนั้นๆ มีลักษณะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้เพิกถอนการรับแจ้งเสีย และให้ดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จต่อไปด้วย” นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด