xs
xsm
sm
md
lg

152 องค์กรฯ ยื่นขอจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคเป็นปากเสียงให้ ปชช.ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร รวมตัวยื่นหนังสือเพื่อขอเปิดตัวเป็นคณะผู้เริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี รับหนังสือ

สืบเนื่องจากวันที่ 1 ตุลาคม 2563 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรผู้บริโภคตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 จำนวน 155 องค์กร โดยตามกฏหมายกำหนดให้องค์กรผู้บริโภคผ่านการจะแจ้งไม่น้อยกว่า 150 องค์กร สามารถรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภครายนั้น

วันนี้ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงรวมตัวเป็นแกนนำและรวบรวมรายชื่อองค์กรที่ได้จดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค ต่อนายทะเบียนกลาง และนายทะเบียนจังหวัดจากทั่วประเทศจำนวน 152 องค์กร เพื่อยื่นเรื่องขอเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ต่อผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

น.ส.สารี กล่าวว่า ในการดำเนินการขอเป็นผู้ริเริ่มก่อการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคประเทศไทยนั้น มีนายสรศักดิ์ ระดาร์เขตร์ นายทะเบียนกลางและนิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักกฏหมายระเบียบกลาง สปน. เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานและเอกสารการยินยอมเข้าร่วมขององค์กรผู้บริโภคที่ร่วมเข้าชื่อจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค โดยเมื่อนายทะเบียนกลางได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะมีการประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค คือสภาองค์กรผู้บริโภคในประเทศไทย ในราชกิจจานุเบกษา รวมถึงทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายใน 30 วัน และเมื่อมีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคประเทศไทย คณะผู้เริ่มก่อการต้องจัดทำร่างข้อบังคับของสภาองค์กร และเรียกประชุมสมาชิกภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศการจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เพื่อดำเนินกิจกรรมสำคัญต่างๆ คือพิจารณาข้อบังคับสภาเลือกตั้งประธานและคณะกรรมการนโยบายของสภา กำหนดนโยบายแนวทางหรือแผนงานรวมทั้งกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองบริโภคต่อไป

น.ส.สารี กล่าวว่า สภาองค์กรผู้บริโภคประเทศไทยจะทำให้ผู้บริโภคมีตัวแทนทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด โดยจะเป็นตัวแทนเสนอความเห็นต่อการจัดทำร่างกฎหมายต่างๆ หรือนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้บริโภค เป็นปากเป็นเสียง ช่วยตรวจสอบเตือนภัยเปิดเผยข้อมูลรายชื่อสินค้าที่หลอกลวง ไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค ช่วยสนับสนุนผู้บริโภคให้สามารถแก้ปัญหาเคียงข้างผู้บริโภคในการเจรจาไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ตั้งแต่ก่อนฟ้องจนเรื่องขึ้นสู่ศาล ช่วยฟ้องคดี รวมถึงช่วยผู้บริโภคที่ใช้สิทธิแล้วถูกดำเนินคดี ทำให้ผู้บริโภครู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิ และใช้สิทธิได้อย่างเข้มแข็ง โดยร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค