เมืองไทย 360 องศา
นับจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ที่กลุ่ม “ปลดแอกฯ” ที่ว่ากันว่าอยู่ในเครือข่ายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่ม “ก้าวหน้า” ประกาศชุมนุมใหญ่กันอีกรอบ โดยแกนนำประกาศล่วงหน้าว่าคราวนี้จะเป็นการชุมนุมแบบ “แตกหัก” ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แบบม้วนเดียวจบ นั่นคือ จะเป็นการชุมนุมแบบปักหลักพักค้าง 7 วัน 7 คืน และที่สำคัญ งานนี้ “มากันเป็นล้าน” ว่าเข้าไปนั่นเลยทีเดียว
แม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยสถานที่แน่นอนว่าจะมีการชุมนุมที่ใดบ้าง เพียงแต่พูดแบบคลุมๆ ไป ว่า จะไปชุมนุมทุกที่ที่มีปัญหา และยืนยันว่า นี่คือ การชุมนุมใหญ่ที่ต้องการ “เผด็จศึก” ให้ได้
นั่นเป็นคำพูดของแกนนำ ไม่ว่าจะเป็น นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” รวมไปถึงการปลุกเร้าอยู่ข้างหลังเวทีจากปากของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เน้นย้ำว่า “ต้องปฏิรูปสถาบัน สานต่อภารกิจคน 6 ตุลาฯ อย่าปล่อยโอกาสเปลี่ยนประเทศ” อะไรประมาณนี้
ซึ่งก็สอดรับกับคำพูดของแกนนำชุมนุมบางคน เช่น นายอานนท์ นำภา ที่ยืนยันว่า ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม จะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน และยังจะพูดมากกว่าทุกครั้งอีกด้วย โดยย้ำว่า หากถูกขัดขวางไม่ให้พูดเรื่องดังกล่าว เขาก็จะไม่ยอมขึ้นเวทีอย่างเด็ดขาด
แน่นอนว่า จากน้ำเสียงดังกล่าวของเขายังคงเข้าใจว่า การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็น “จุดขาย” หรือมั่นใจว่า จะทำให้มีคนเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “มาเป็นล้าน” ตามที่แกนนำอย่างพวกเขามั่นใจ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากบรรยากาศตามความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งเท่าที่พอสัมผัสได้ในช่วงที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าทุกอย่างมันออกมาในทาง “ตรงกันข้าม” จนอาจจะเรียกว่าอย่างสิ้นเชิงก็ว่าได้ เพราะพิจารณาในภาพรวมแล้วมันไม่ได้ “มีเงื่อนไข” ให้ต้องชุมนุมถึงขั้นต้องขับไล่นายกรัฐมนตรี ขับไล่รัฐบาลกันเลย
แน่นอนว่า ในการบริหารบ้านเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรืออาจรวมถึง “สาม ป.” ที่ยังมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจจะสร้างความไม่พอใจกับบางฝ่ายในสังคม แต่หากกล่าวกันแบบตรงไปตรงมา ก็ยังถือว่าไม่ได้ทำเรื่องผิดพลาดเลวร้าย ถึงขั้นต้องขับไล่ในทันที หรือมีเรื่องทุจริตร้ายแรงที่ปล่อยไว้ไม่ได้ อะไรประมาณนั้น มิหนำซ้ำ เมื่อพิจารณาจากเรื่องการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 รัฐบาลชุดนี้ก็ทำได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเทศในโลก หากบอกว่า เศรษฐกิจไม่ดี ก็ให้ลองยกตัวอย่างมาสักประเทศสิว่ามีประเทศไหนที่เศรษฐกิจดีบ้าง มีคนติดเชื้อโควิดในประเทศน้อยกว่าไทยบ้าง
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังถือว่ายังอยู่ในเส้นทางของสภา ถึงอย่างไรก็ต้องนำญัตติการแก้ไขทั้ง 6 ญัตติ รวมทั้งคาดว่าจะรวมอีก 1 ญัตติ เสนอแก้ไขจากภาคประชาชน มาพิจารณาพร้อมกันในสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ในเดือนพฤศจิกายน คืออีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว แม้ว่าตอนนี้กำลังมีการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติแก้ไขฯ ก่อนรับหลักการ อาจดูเหมือนเป็นการยื้อเวลา แต่เชื่อเถอะทุกอย่างหากเป็นความต้องการ เป็น “กระแส” ที่แท้จริง ไม่ว่าใครก็ขวางไม่ได้
และในเมื่อ “คลั่งไคล้ประชาธิปไตย” กันนัก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องกลับไปถามความเห็นประชาชนก่อน ว่าจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผ่านการ “ทำประชามติ” นั่นแหละ
ขณะเดียวกัน การที่แกนนำผู้ชุมนุมยังมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่จะเดินหน้าปฏิรูป และวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ต่อไป มันยิ่งทำให้มวลชนถอยห่าง และเชื่อว่า หลายคนยังรับไม่ได้ และยังบิดเบือนไปจากประเด็นการเมืองที่ต้องมุ่งเน้นในเรื่องของความล้มเหลวของรัฐบาล หรือในเรื่องการต่อสู้เรื่องเผด็จการ หรือ ประชาธิปไตย
อีกทั้งหากพิจารณาจากเงื่อนไขทางการเมืองล่าสุด ก็เริ่มมีการทยอยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นกันแล้ว โดยเริ่มจากเดือนธันวาคมนี้ จะประเดิมด้วยการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด จากนั้นภายในไม่เกินทุก 60 วัน ก็จะมีการเลือกตั้งกันอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ก็จะเป็นมหกรรมการเลือกตั้ง และการ “หย่อนบัตร” เพราะอาจยังมีการ “ลงประชามติ” เพื่อถามว่าจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ร. หากผ่านขั้นตอนที่ว่านั้นมาได้แล้ว เรียกว่าเลือกตั้งกันไม่ได้หยุดหย่อนก็ว่าได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนก็ยังมองไม่เห็นว่า การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคมนี้ จะมีคนมาร่วมเป็นล้านๆ คน แต่หากเป็นการชุมนุมเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพวกเดียวกันเอง ก็คงไม่มีใครเถียง เพราะเมื่อประเมินจากท่าทีเฉยเมยของฝ่ายความมั่นคงมาประกอบด้วยแล้ว มันก็ยิ่งมั่นใจว่าไม่มีทางเป็นไปได้ !!