หัวหน้าก้าวไกล พร้อม “โรม” วางพวงมาลารำลึก 6 ตุลา 19 ชี้ เป็นเครื่องเตือนใจในเวลานี้ ถึงเวลาต้องเรียนรู้ความอดทนอดกลั้นในสังคม แม้สุดโต่งแต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่รัฐทำรุนแรง โวยไร้การตามหาความจริง ปราศจากนำผู้ทำผิดมาลงโทษ เผยยังไม่ถูก กมธ.แก้ รธน.เชิญแจง
วันนี้ (6 ต.ค.) ที่ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนพรรค เพื่อร่วมวางพวงมาลารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
โดย นายพิธา กล่าวว่า คงไม่มีเวลาไหนที่เหตุการณ์ 6 ตุลา จะเป็นเครื่องเตือนใจให้กับสังคมได้เท่าเวลานี้ เหตุการณ์นี้มีความสำคัญหลายด้านและสำคัญสำหรับใครหลายคน บางคนจะมองเป็นตำนานการต่อสู้ เป็นความทรงจำ หรือประวัติศาสตร์ ตนคิดว่าถึงเวลาเเล้ว ที่เราจะต้องเรียนรู้ถึงความอดทนอดกลั้นในสังคม ไม่ว่าจะเห็นต่างทางการเมืองอย่างสุดโต่งมากแค่ไหน ก็ไม่ใช่เป็นข้ออ้างที่รัฐจะก่อความรุนแรงอย่างมีระบบกับประชาชนที่อยู่ในชาติได้ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนที่รัฐจะต้องไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ไม่ว่าจะยุคสมัยใด
นายพิธา กล่าวต่อว่า แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา และ พฤษภา 2553 ดูเหมือนว่ารัฐจะยังไม่ตระหนักถึงบทเรียนในการตอบสนองเจตจำนงของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นแรก คือ ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ความรุนแรงทุกครั้งที่เกิดขึ้นมาจากผู้มีอำนาจทั้งสิ้น ถ้าได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา และสามารถสร้างความอดทนอดกลั้นทางการเมืองได้ เหตุการณ์ที่เราต้องมากังวลก็จะไม่เกิดขึ้น ประเด็นที่ 2 สถิติของสิ่งที่เกิดขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิต 6 ตุลา เท่าที่พอที่จะหาได้ คือ 45 คน บาดเจ็บ 145 คน แต่ตัวเลขที่สังคมไทยไม่เคยหาได้เลย คือ ผู้ยิง หรือ ผู้ใช้อาวุธ ไม่มีการได้รับผิดจากสถานการณ์นี้ หากเป็นในระดับสากลจะต้องมีกระบวนการตามหาข้อเท็จจริง ต้องมีทั้งการรับผิดและปรองดอง แต่ในไทยเท่าที่เคยมีกระบวนการแบบนี้เมื่อ 4-5 ปีก่อน กระบวนการตามหาความจริงได้ข้ามไปที่ความปรองดอง โดยปราศจากการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ดังนั้น ในทุกวันนี้ตัวเลขผู้กระทำผิดก็ยังเป็นศูนย์
เมื่อถามถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการมีมติจะเชิญพรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชี้แจง นายพิธา กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเชิญจากทางคณะกรรมาธิการ อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อสังเกตว่า การตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว คือ การประวิงเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่จริงใจต่อประชาชน และตนยังไม่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล เพราะจากกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมามีลักษณะย้อนแย้ง ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองในหลายกรณี