xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผยนายกฯ ย้ำ ครม.หนุนแก้ รธน.ฉบับพรรคร่วม-ฝ่ายค้านเสนอแล้วต้องเข็นต่อ ยัน 30 วันไม่ถ่วงเวลา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
“วิษณุ”เผย นายกฯ ย้ำครม.หนุนแก้รธน.ฉบับพรรคร่วม-ฝ่ายค้าน ชี้ “ในเมื่อเสนอแล้วก็ต้องเข็นต่อ” บอก ให้กมธ.ถกกันในสภาฯ ยัน 30วัน ไม่ใช่การเตะถ่วง เปรย วิสามัญเปิดยากแต่ไม่ใช่เปิดไม่ได้

วันนี้ (1 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ส.ว.เห็นควรให้มีการพูดคุยในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ โดยไม่เห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีจะส่งสัญญาณให้รับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงหากจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะต้องมีการทำประชามติก่อนว่า เป็นความเห็นของ ส.ว. แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างจะต้องไปพูดคุยกันใน กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งตั้งขึ้นตามข้อบังคับเพื่อพิจารณาก่อนรับหลักการ รัฐบาลหรือตนคงออกความเห็นอะไรไม่ได้ และเขาจะนำบทสรุปหรือข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ชุดของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งถือว่าเป็นการดี เพราะตอนที่ชุดของนายพีระพันธุ์เสนอนั้นยังไม่มีร่างใดแม้แต่ร่างเดียว ดังนั้นจึงต้องนำมาเทียบกันทั้งหมด โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องปัญหารัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ ปรารภขึ้นมาว่าร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลได้ลงชื่อกันไปจำนวนมากกว่า 200 คน เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อเสนอแล้ว ก็ต้องเข็นต่อไป จะไปกลับลำได้อย่างไร แต่ไม่ได้ส่งซิกส่งอะไร

เมื่อถามว่าถึงอย่างไร เสียงของ ส.ว.ก็มีส่วนสำคัญในการที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะ ส.ว.มีตั้ง 250 เสียงต้องขอรอฟังการพูดคุยของ กมธ.วิสามัญฯ ก่อนเพื่อให้เกิดการตกผลึกซึ่งถ้า กมธ.สามัญฯ ออกมาตรงกับแนวของเราก็ได้ แต่ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องไปช่วยกันทำความเข้าใจกับ ส.ส. ส.ว. และประชาชน ส่วนที่มี ส.ว.บางคนเรียกร้องให้ทำประชามติก่อนจะตั้ง ส.ส.ร. นายวิษณุกล่าวว่า มีบางคนพูดเท่านั้น ตนได้ยินมานานแล้ว ก็ไม่เป็นอะไร

“เวลา 30 วันนี้ไม่ได้เพื่อถ่วงเวลา ผมทำปฏิทินไว้ในใจว่ากว่ากฎหมายประชามติจะผ่าน ก็ไปถึงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2564 เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่ทำเสร็จในเดือน ธ.ค.ก็ต้องทิ้งเอาไว้ เพราะต้องรอ ไม่เช่นนั้นไม่รู้จะไปลงประชามติกันอย่างไร ฉะนั้นก็ต้องใช้เวลา บางคนก็บอกว่ากลัวอย่างนี้ บางสิ่งที่กลัวบ้างก็ไม่มีเหตุผล บางสิ่งก็อาจจะมีเหตุผล ก็ควรนำมาถกกันในช่วงที่สภาปิด 30 วันนี้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าทำเสร็จเร็วไม่ถึง 30 วัน ก็ยิ่งดี และถึงอย่างไรก็ต้องรอเปิดประชุมสภาในวันที่ 2 พ.ย.อยู่ดี และไม่แน่ก็อาจจะเปิดประชุมสภาสมัยประชุมวิสามัญฯก็ได้ เพราะการเปิดสภาสมัยประชุมวิสามัญนั้น ทำได้ 2 แบบ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอเปิด และสมาชิกสภาเข้าชื่อกันขอเปิด แต่ในเมื่อจะเปิดประชุมสภาสมัยสามัญอยู่แล้วในวันที่ 1 พ.ย. ก็สามารถประชุมร่วมกันได้ไม่ได้เสียเวลาแต่อย่างใด เชื่อว่าใน กมธ.วิสามัญฯ พูดคุยกันกันก็เข้าใจ” นายวิษณุกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น