“ประธานวิปรัฐบาล” ยันไร้ใบสั่งจากรัฐบาล หวัง ส.ว.เห็นชอบ แต่ยอมรับ 6 ญัตติแก้ไข รธน.ผ่านยาก ด้าน “สุทิน” ไม่คุย ส.ว.แต่ขอให้นึกถึงประโยชน์ประเทศชาติ เตรียมยื่นเปิดวิสามัญ หลังโหวตแก้ไข รธน.วาระแรก
วันนี้ (22 ก.ย.) นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม วิป 3 ฝ่าย ว่ายอมรับว่ายากสำหรับการให้ความเห็นชอบญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีบรรจุอยู่ในวาระการประชุม 6 ญัตติ เนื่องจากจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 84 เสียง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะต้องชี้ให้เห็นถึงเหตุผลให้ ส.ว.เห็นด้วย โดยแนวโน้มมีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม ต้องขอพิจารณาอีกครั้งว่าจะพิจารณาทั้ง 6 ญัตติในคราวเดียวหรือไม่ แต่ส่วนตัวก็อยากให้พิจารณาทั้ง 6 ญัตติไปพร้อมกัน และคาดหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นด้วยกับญัตติของรัฐบาล ยืนยันว่าไม่มีการส่งสัญญาณจากรัฐบาล
ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อเร่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นนั้น นายวิรัชกล่าวว่า ต้องพิจารณากันอีกครั้ง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีการเร่งรัดเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้หยุดพักในช่วงปิดสมัยประชุมบ้างหลังทำหน้าที่มาตลอด 4 เดือน จากนั้นวันที่ 1 พ.ย.ก็เปิดประชุมสมัยสามัญปกติแล้ว
นายวิรัชกล่าวยืนยันว่า ไม่รู้สึกกังวลต่อการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม รวมถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่จะมาชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันนี้ 24 ก.ย.นี้ด้วย
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในญานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการพูดคุยกับ ส.ว. ในการเห็นชอบรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าประชุมรัฐสภาในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปคุยอะไรมาก เพราะไม่ใช่ผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่คือผลประโยชน์ของประเทศ และสังคม ขอย้ำว่าวันนี้การแก้รัฐธรรมนูญ ต้องแก้เพื่อสังคม ไม่ใช่แก้แล้ว ส.ส.จะได้ หรือ ส.ว.จะเสีย คงไม่ต้องไปเสียเวลางอนง้ออะไรกันมากมาย
ส่วนญัตติทั้ง 6 ฉบับจะผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการทั้งหมดเลยหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่สามารถประเมินได้ แต่หากญัตติใดไม่ผ่านก็จะยื่นอีกในสมัยประชุมหน้า ฉะนั้นก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ
นายสุทินกล่าวต่อว่า การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้นในฐานะฝ่ายค้าน เห็นว่าหลังจบการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขั้นรับหลักการแล้วจะยื่นขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญทันที แต่ก็ต้องดูอีกทีว่าสภาฯจะให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณากี่วัน ถ้า 60 วัน ก็ไม่ต้องเปิดสมัยวิสามัญ แต่หากให้พิจารณาเพียง 14-15 วัน ก็ควรจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้