xs
xsm
sm
md
lg

3 ผู้ท้าชิงอธิการบดี ม.รามฯ แถลงโนบาย ชูพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ลุ้นผล 20 ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศึกชิง “อธิการบดี” ม.รามคำแหง เริ่มขึ้นแล้ว 3 ผู้สมัครแถลงนโยบาย ชูพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพิ่มสวัสดิการบุคลากร-ลูกจ้างเต็มที่ พร้อมจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ลุ้นผล 20 ต.ค.นี้

วันนี้ (29 ก.ย.) มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดให้มีการแถลงนโยบายของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อบุคลากรสายคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างฯ และนักศึกษา โดยมีการถ่ายทอดผ่านเครือข่ายการสื่อสารไปยังวิทยาเขตบางนา และสาขาวิทยบริการฯ 23 จังหวัด ซึ่งมีผู้เข้ารับการสรรหา 3 คน ประกอบด้วย ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ หมายเลข 1 ผศ.ดร.สถาพร สระมาลีย์ หมายเลข 2 และ รศ.ดร.ปรัชญา ชุ่มนาเสียว หมายเลข 3

ผศ.ดร.สถาพร แถลงนโยบาย ชูสโลแกนทำได้ไว ทำได้จริง 100% มุ่งพลิกโฉมมหาวิทยาลัย สร้างความเป็นเลิศ กระจายงาน กระจายรายได้ของบุคลากร สร้างสวัสดิการเป็นรายได้นอกจากเงินเดือน พร้อมเรียกคืนสิทธิจ่ายเต็ม เงินเดือนของพนักงานสายอาจารย์ คืนสิทธิค่าคุมสอบให้กลับมาเช่นเดิม คืนสิทธิการเรียนภาษาจ่ายคืน 5,000 บาท และภาษาที่ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน จะได้เพิ่มอีก 5,000 บาท รวมถึงการจัดสรรงบประมาณการทำวิจัยแก่คณาอาจารย์ คณะละ 1 ล้านบาท รวมทั้งมีนโยบายนักศึกษาจบไว ด้วยการสอบ eTesting ยุคใหม่ นักศึกษาสาขาวิทยบริการฯ ในต่างจังหวัด ค่าหน่วยกิตเหลือ 25 บาท เท่ากับส่วนกลาง จัดตั้ง “ตู้ลงทะเบียนเรียนอัจฉริยะ” อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาที่ไม่สะดวกในการใช้สมาร์ทโฟน และ On line หรือสำหรับผู้มาลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการ “เรียนรามวันแรกมีงานทำ” จัดหารายได้ให้นักศึกษาโดยทำข้อตกลงกับภาคเอกชนเจ้าของกิจการ หาตลาดแรงงานรองรับภายหลังสำเร็จหลักสูตรการอบรมระยะสั้น และให้นักศึกษาสามารถสอบได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ส่วนลูกจ้างมหาวิทยาลัยเกษียณรับบำเหน็จ 5 เท่าของเงินเดือน ลูกหลานบุคลากรทุกคนให้สิทธิได้เข้าเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงทุกระดับทันที รวมทั้งชูการนำทุกอาคารกลับมาใช้งานโดยต้องไม่ทิ้งร้าง และต้องดำเนินการเอาผิดทางอาญาและแพ่งกับผู้ที่สร้างความเสียหาย

ขณะที่ ผศ.ดร.สืบพงศ์ ชูนโยบายการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ มุ่งเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ ผลักดันโครงการวิจัยหลังโควิด-19 รวมถึงสวัสดิการแก่บุคลากร ลูกจ้าง เปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุน เช่น ยกระดับอนามัย เป็นศูนย์แพทย์ เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป พัฒนาร้านหนังสือให้กลายเป็นศูนย์หนังสือเช่นมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพิ่มรายได้มหาวิทยาลัยโดยเปิดรับนักศึกษาตลอดปี เป็นการผูกใจไว้ก่อนโดยยังคงการเปิดภาคเรียนตามระบบเดิม สร้างแอปพลิเคชันแจ้งความจำนงในการสอบ ให้นักศึกษาประสงค์ที่จะสอบลงทะเบียน เพื่อเป็นการลดความสูญเปล่าในการพิมพ์ข้อสอบ เพิ่มตำราให้พอเพียงทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมมือภาคเอกชนจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อสร้างอาชีพ

ด้าน ผศ.ดร.ปรัชญา ชูการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการศึกษาและการบริการเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาล พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม การเพิ่มความหลากหลายของนักศึกษา ด้วยการเจาะกลุ่มผู้สูงอายุ ทหารเกณฑ์ให้เข้ารับการศึกษา กระตุ้นยอดนักศึกษาด้วยระบบแพกเกจเรียนจบปริญญาตรีต่อปริญญาโทได้ทันที พร้อมมีนโยบายอยากสอบเมื่อไหร่ก็สอบ เพื่อผ่อนภาระและความแออัดการสอบลง

สำหรับการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งนี้มีคนขอใบสมัคร 13 คน แต่มีผู้ยื่นใบสมัครเพียง 4 คน ถูกตัดสิทธิ 1 คน เหลือผู้ชิงตำแหน่ง 3 คน โดยนายสถาพร สระมาลีย์ และนายปรัชญา ชุ่มนาเสียว เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะที่นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ นักวิชาการ เป็นลูกเขยของสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดคมนาคม ร่วมชิงตำแหน่งด้วย ส่วนขั้นตอนต่อไปคือ การเปิดให้ใช้สิทธิลงคะแนนหยั่งเสียงสรรหาอธิการบดีในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ทั้งส่วนกลาง และสาขาวิทยบริการฯ 23 จังหวัด หากไม่สามารถใช้สิทธิลงคะแนนหยั่งเสียงในวันจริงได้ สามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงคะแนนหยั่งเสียงล่วงหน้าภายในวันที่ 30 ก.ย.และใช้สิทธิล่วงหน้าได้โดยส่วนภูมิภาคใช้สิทธิลงคะแนนหยั่งเสียงล่วงหน้าในวันที่ 10 ต.ค. และส่วนกลาง ลงคะแนนหยั่งเสียงล่วงหน้าได้ในวันที่ 18 ต.ค.นี้










กำลังโหลดความคิดเห็น