สตง.ชำแหละงบมหาดไทย 9.3 พันล้าน ในโครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ตามนโยบายไทยนิยมยั่งยืน “ประยุทธ์ 1” พบโครงการแค่ 1 ปีเศษ เน้นแต่ “จัดทำแลนด์มาร์ก-จุดเช็กอิน” หน่วยงานรับผิดชอบ ทำสลับซับซ้อน แม้โครงการดีค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน แต่ “องค์กรรับผิดชอบ” ขาดความรู้ ความชำนาญในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว พบกว่า 300 ผลิตภัณฑ์ ติดอุปสรรคไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาจำกัด แถม “อีเวนต์” หลายพื้นที่ยังถูกพับเรื่องงบประมาณ
วันนี้ (22 ก.ย.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า สตง.เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ใช้งบประมาณปี 2561 รวมว่า 9,328.12 ล้านบาท
โดยโครงการนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ยุครัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี หลังจาก กรมพัฒนาชุมชน กำหนดพื้นที่เป้าหมายจำนวน 3,273 หมู่บ้าน/ชุมชน ครอบคลุม 76 จังหวัด ตามไตรมาส 3-4 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2561(เดือนเมษายน-กันยายน 2561)
สตง. สรุปว่า โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์และไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินกิจกรรมใน 5 กระบวนงานหลัก ไม่สามารถเป็นกลไกในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดหมู่บ้าน/ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม จากข้อตรวจพบที่ 1 จากการดำเนินงานตามโครงการ 5 กระบวนงาน ส่วนภูมิภาค ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 8,344.26 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.45 ของงบประมาณทั้งหมด จากการสุ่มตรวจสอบหมู่บ้าน/ชุมชน 74 แห่ง ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง นครนายก บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา แพร่ ราชบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สตูล สมุทรสงคราม และอุบลราชธานี
ด้าน การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ที่เข้ามาอบรมจำนวนมาก บางส่วนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรด้านการท่องเที่ยวได้ตามวัตถุประสงค์ บางส่วนไม่มีพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นมาก่อน ประกอบกับระยะเวลาการอบรมที่สั้นประมาณ 1-5 วัน จนเกิดความสับสน ส่งผลทำให้บุคลากรไม่มีความพร้อมในปฏิบัติหน้าที่จริงได้ เช่น กรณีผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพและความคล่องตัว หรือตัวแทนในวัยทำงานหรือวัยเรียนส่วนใหญ่ที่มีภารกิจส่วนตัว
นอกจากนี้ ยังไม่พบว่าการดำเนินโครงการทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ หรือหมู่บ้าน/ชุนชน มีแนวทางที่ชัดเจนในการต่อยอด ทำให้ไม่สามารถสร้างโครงข่ายการเป็นเจ้าบ้านที่ดีให้เกิดขึ้นทั่วทั้งพื้นที่ตามหลักการของการท่องเที่ยวชุมชน หรือยังไม่มีการส่งต่อความรู้เพื่อทดแทนบุคลากรเดิมที่ได้รับการอบรม
ด้าน แผนธุรกิจชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เช่น บางแห่งยังจำไม่ได้ว่าเคยมีการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนท่องเที่ยวของพื้นที่ตนเอง เป็นต้น
ขณะที่ “กิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวก” กลับพบว่า ส่วนใหญ่เน้นการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อจัดทำแลนมาร์ค (Landmark) และจุดเช็คอิน (Check–in) โดยการนำวัสดุอุปกรณ์จากภายนอกไปติดตั้งในพื้นที่ เช่น ซุ้มประตู สะพานไม้ไผ่ ซุ้มไม่ไผ่ ศาลาไม้ไผ่ ฉากหลังถ่ายรูป ป้ายต่างๆ และต้นไม้ประดับ ซึ่งเป็นเพียง การตกแต่งรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น
“มีการนำวัสดุและอุปกรณ์มาติดตั้งในหมู่บ้าน/ชุมชนในลักษณะที่เหมือนกัน หรือซ้ำกันเป็นจำนวนมาก เช่น ซุ้มประตู สะพานไม้ไผ่ รูปปูนปั้น ฉากหลังสำหรับถ่ายรูป ซุ้มไม้ไผ่ แคร่ไม้ไผ่ ศาลาไม้ไผ่ และการนำต้นไม้มาจัดทำสวน และส่วนใหญ่ใช้วัสดุในการจัดทำที่เหมือนๆ กัน เช่น ไม้ไผ่ ปูนปลาสเตอร์ และพลาสวูด ซึ่งในภาพรวมยังไม่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และส่วนใหญ่เกิดจากความคิดของผู้รับจ้างเป็นหลัก ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อย”
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหมู่บ้าน/ ชุมชน จำนวน 26 แห่ง ที่วัสดุและอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่ชำรุดเสียหาย บางแห่งไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้อีก และบางแห่งไม่สามารถดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ให้อยู่ในสภาพที่สวยงามได้
สตง.ยังพบว่า หมู่บ้าน/ชุมชนมีความพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการได้ไม่ถึง 10 ผลิตภัณฑ์ ตามเป้าหมายของโครงการ อย่างน้อยหมู่บ้าน/ชุมชนละ 10 ผลิตภัณฑ์ เท่ากันในทุกพื้นที่ซึ่งไม่ตรงกับสภาพความพร้อมของแต่ละ หมู่บ้าน/ชุมชน โดยพบว่า ทั้ง 74 หมู่บ้าน/ชุมชนที่สุ่มตรวจสอบมีความพร้อมในการพัฒนาสินค้าและ บริการ (ผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่ม D) เฉลี่ยเพียง 1-3 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น
จากการสุ่มตรวจสอบส่วนใหญ่มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่ต้องพัฒนาไม่ต่ำกว่า 100-300 ผลิตภัณฑ์ แต่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาจำกัด ยังพบว่า พื้นที่่ จ.แพร่ และ จ.นครนายก ที่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการในขอบเขต ของสัญญาจ้าง (Term of Reference: TOR)
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเพียง 56 ผลิตภัณฑ์ จาก 750 ผลิตภัณฑ์ ที่สุ่มตรวจสอบ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.46 เท่านั้นที่มีการขอรับรองมาตรฐาน
ยังพบว่า บรรจุภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาตามโครงการส่วนใหญ่ยังไม่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่เหมาะสม และไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้อย่างแท้จริง รวมไปถึงรูปทรงและรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ไม่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์
“บางรายให้ความเห็นว่า บรรจุภัณฑ์มีต้นทุนสูง ซึ่งเมื่อบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับจากโครงการหมดแล้วจะไม่ผลิตบรรจุภัณฑ์ใช้อีก เนื่องจากหากรวมต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ต้องลงทุนเองจะทำให้ราคาขายสินค้าที่จำหน่ายภายในหมู่บ้าน/ ชุมชนสูงขึ้นด้วย อาจไม่สามารถจำหน่ายได้”
“ขั้นตอนดังกล่าว ทำให้หมู่บ้าน/ชุมชนยังไม่สามารถใช้การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในการนำเสนอประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงงานอีเวนท์ (Event) ดำเนินการในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยพบว่า 6 จังหวัด จาก 11 จังหวัด ที่สุ่มตรวจสอบ มีการจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบงานอีเวนท์ ในขณะที่กระบวนงานอื่นยัง ไม่ได้ดำเนินการ (เนื่องจากงบประมาณถูกพับ)”
ขณะที่ “แอปพลิเคชัน แอ่งเล็ก เช็กอิน” ที่นำมาใช้กับโครงการก็ยังมีข้อจํากัดในการจัดการข้อมูลการท่องเที่ยวหมู่บ้าน/ชุมชนในระดับพื้นที่
ขณะที่ ข้อตรวจพบที่ 2 สตง. พบว่า หมู่บ้าน/ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวนมากมีศักยภาพไม่เพียงพอในการพัฒนาให้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้ จาก 74 แห่ง พบว่า มีหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นจำนวนถึง 41 แห่ง ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่สำคัญคือ ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวหรือกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจเพียงพอในการสร้างจุดขาย ทำให้แหล่งท่องเที่ยวหลักที่เป็นจุดขายของหมู่บ้าน/ชุมชนยังไม่ได้รับการพัฒนา
“สรุปได้ว่า การดำเนินโครงการเพียง 1 ปีเศษ แต่มีพื้นที่เป้าหมายจำนวนมากกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้กิจกรรมที่ดำเนินการยังมีความสลับซับซ้อน ที่เน้นการค้นหาทุนของชุมชนที่มีอัตลักษณ์และมีเสน่ห์ เฉพาะตัว เพื่อนำมาทำให้เกิดสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์และมีความแตกต่าง ประกอบกับกรมการพัฒนาชุมชนเอง ขาดความรู้ ความชำนาญในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่จํากัดให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์”
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สตง. ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางที่เกิดผลสัมฤทธิ์ เกิดประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า ในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต่ออธิบดี กรมการพัฒนาชุมชน ให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งหมดแล้ว