“อัษฎางค์” มอง “หมุดคณะราษฎร 2563” อารมณ์มอญซ่อนผ้า “อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา” ชี้ บุกรุก-ทำลาย โบราณสถาน คุก 10 ปี ปรับ 1 ล้าน “ไพศาล” เผยหนังสือถวายฎีกา 2 ข้อ นายกฯลาออก และแก้ รธน. “ทุกมาตรา” “ปิยบุตร” พอใจแล้ว
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (20 ก.ย. 63) เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ ข้อความระบุว่า
“ทอนซ่อนผ้า พันนิกาอยู่ข้างหลัง
ปิยะบูดไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ
เลิกเล่นเป็นเด็กเสียที โตๆ กันแล้ว”
เช่นเดียวกับ นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“การกระทำของเด็กๆ ไม่กี่คน เช่น เรื่องการฝังหมุดที่สนามหลวง ผมมองว่า ยิ่งทำให้ภาพของคณะราษฎร drop ลงไปอีก เพราะเด็กๆ ไม่กี่คนทำให้เรื่องที่ควรขลัง กลายเป็นเหมือนเด็กเล่นขายของ”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ของ นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“สนามหลวงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติใน พ.ศ. 2520 พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
มาตรา 32 ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทําให้เสียหาย ทําลายทําให้เสื่อมค่า หรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทําต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทําต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 33 ผู้ใดทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า ทําให้ไร้ประโยชน์หรือทําให้สูญหายซึ่งโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
การที่กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันบุกรุกเข้าไปชุมนุมในสนามหลวงที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมมีความผิดตามมาตรา 32 วรรคสอง ต้องระวางโทษไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการที่ได้มีการทำลายพื้นคอนกรีต และทำการฝังวัตถุที่เป็นโลหะลงไปบนพื้นเป็นการทำให้เสียหายซึ่งโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ย่อมมีความผิดตามมาตรา 33 ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษการกระทำทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91”
ส่วน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
“หมุดคณะราษฯ 2563 เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อฝังได้ ก็ต้องทุบทำลายเอาออกได้ อย่าเหิมเกริมต่อกฎหมาย เดี๋ยวจัดให้ #ให้มันจบที่เรือนจำ
ม็อบผิดกฎหมาย ฝังหมุดคณะราษฯ 2563 ณ สนามหลวง ทำให้ความผิดตาม ม.32 พ.ร.บ.โบราณสถานเด่นชัดยิ่ง #ให้มันจบที่เรือนจำ”
ด้าน เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ของ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์หัวข้อ “ม้วนเดียวจบ”
โดยระบุว่า “ชุมนุมเบิ้มๆ 19 กันยายน โม้ว่า มีเซอร์ไพรส์ คนจะมาเรือนแสน สุดท้าย ได้แค่นี้ อ้างว่าสะสมชัยชนะ เพื่อขับเคลื่อนต่อไปในวันหน้า ไอ้ที่ว่าแตกหัก ก็แค่นี้เอง ปักหมุด 20 กันยา ยื่นถวายฎีกาให้สถาบันฯปฏิรูป
แกนนำและนักการเมืองที่หนุนหลังม็อบเครมว่า มีคนมาร่วมแสน หน่วยข่าวรายงานว่า ไม่เกินสามหมื่น อย่าเพิ่งเชื่อใคร คนนอกอย่าง ริชาร์ด บาร์โรว์ บล็อกเกอร์ขาวอังกฤษที่ลงพื้นที่ชุมนุม เขียนลงเฟซบุ๊กว่า มีคนมาชุมนุมเพียงสองหมื่นคนเท่านั้น
ประการสำคัญ คนที่มาร่วมม็อบแทนที่จะเป็นนักเรียน นักศึกษา กลับเป็นคนเสื้อแดง นปช. ที่มายึดพื้นที่เป็นมวลชนหลักของม็อบครั้งนี้ แม้แต่แกนนำ อย่าง เพนกวิน ก็ยอมรับ
มีข้อน่าสังเกตนะ บรรดา ส.ส. นักการเมืองเดินอวดโฉม ประมาณว่า สังเกตการณ์ที่ลงแรงไว้ ได้มาเท่าไร มีใครอมเงินหรือเปล่า
เชื่อเถอะ คนทั้งประเทศไม่เห็นด้วยเรื่องสถาบันฯอย่างแน่นอน
งานนี้ต้องแสดงความชื่นชมรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งรับอย่างใจเย็น อดทน ปล่อยให้ชุมนุม ปล่อยให้แสดงอย่างเต็มที่ แต่อย่าลืมนะ แกนนำได้กระทำผิดกฎหมายหลายข้อหาหลายมาตรา ส่วนคนที่ศาลให้ประกันตัว อาจถูกถอนประกัน งานนี้ ตัวใครตัวมัน อีแอบไม่เกี่ยวนะ
เสร็จจากนี้ 14 ถึง 21 วัน สาธารณสุขคงต้องลงพื้นที่ตรวจหาการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อโควิดที่อาจฝังตัวซ่อนอยู่ในกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุม”
ขณะที่ นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
หนังสือถวายฎีกาของม็อบที่มีข่าวว่า เรียกร้องให้ ปฏิรูปสถาบันบ้าง เรียกร้อง 10 ข้อบ้าง เรียกร้อง 3 ข้อบ้าง จนสับสนไปหมดนั้น!!!!
ตรวจเช็กแล้วปรากฏว่า หนังสือถวายฎีกาที่ยื่นผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นการถวายฎีกาเพียง 2 ข้อ คือ 1. ให้นายกรัฐมนตรีลาออก 2. ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทุกมาตรา ความหมายคือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ส่วนข้อที่เคยขอให้หยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น เข้าใจว่าตัดออกไปเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล
“จากข้อที่ถวายฎีกาดังกล่าวนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า การชุมนุมครั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องกับม็อบทุกคน น่าจะเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การจาบจ้วงล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ย่อมกระทำไม่ได้ มีแต่จะเกิดอัปมงคลและความพินาศอย่างเดียวเท่านั้น”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์หัวข้อ [ นี่คือห้วงเวลาของประชาชน ]
เนื้อหาระบุว่า การชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร เป็นไปอย่างคึกคัก ใครอยากผลักดันประเด็นอะไรก็มาร่วมแสดงออกกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งกลุ่มผู้หญิงปลดแอก สุราปลดแอก ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สมรสเท่าเทียม บทกวี ศิลปะ การสาดสี เศรษฐกิจปากท้อง แก้รัฐธรรมนูญ การศึกษา รัฐสวัสดิการ
นี่คือ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนแต่ละกลุ่มมีความต้องการไม่เหมือนกัน ทุกคนอยากได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่เมื่อรัฐตอบสนองความต้องการทั้งหมดนั้นไม่ได้ ประชาชนก็เริ่มรวมตัวกันเป็นหนึ่ง แล้วเห็นว่าปัญหาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง พอวิกฤตมากขึ้น ก็ถึงเวลาของการรวมประชาชนให้เป็นหนึ่ง จนกลายเป็นยักษ์อสุรกายไปล้มผู้ปกครองที่แก้ปัญหาไม่ได้
มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่ออนาคตใหม่ที่ดีกว่าของคนรุ่นเราและลูกหลานเรา
เพราะการเมืองคือเรื่องของทุกคน
#ธรรมศาสตร์ #คณะก้าวหน้า #สนามหลวง #สนามราษฎร์”
แน่นอน, ทั้งหมดคือ ประเด็นสำคัญในการชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา จากนี้ไปก็อย่างที่หลายคนหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ว่า แกนนำม็อบจะต้องเจอกับหลายข้อหา และโทษหนักถึง 10 ปี ประเด็นนี้ถือว่า กฎหมายก็คือกฎหมาย การดำเนินคดี ถ้าไม่ทำก็จะมีผู้ร้องกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐว่า ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เชื่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมก็น่าจะมีที่ปรึกษากฎหมายมือดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่รู้ว่าผิด
นอกจากนี้ ที่น่าจับตามองเช่นกัน ก็คือ การถวายฎีกา ซึ่งเชื่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคงไม่ได้หวังผลอะไรมากมาย เพราะรู้อยู่แล้วว่า คำตอบคืออะไร เนื่องจากเวลานี้ ยังเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ด้วยการเมืองนั่นเอง
แต่ถึงกระนั้น ก็อดนึกถึงการวิเคราะห์ของ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แทบจะฟันธงว่า ม็อบนี้ต้องการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ เป็นสำคัญ ถ้าได้แสดงออกว่า “ไม่เอาเจ้า” ก็ถือว่า ได้ชัยชนะในตัวของมันเองอยู่แล้ว ก็ลองย้อนคิดดู ว่า ระหว่างชุมนุม ทั้งปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันฯ บนเวที และฝังหมุด “คณะราษฎร” มันหมายถึงอะไร
แต่ก็อย่างว่า ถ้ามองเหมือนเด็กเล่นขายของ หรือ อารมณ์มอญซ่อนผ้า อย่างที่ “อัษฎางค์” ว่า มันก็สามารถมองได้ เพราะเจ้าของม็อบตัวจริง ไม่ยอมออกหน้าออกตาเสียที ปล่อยให้เด็กมันเล่นของมันไป แต่พอเอาเรื่องใหญ่ เรื่องขลัง มาเล่นเกินตัว มันจึงกลายเป็นของเด็กเล่น กระนั้น ก็ยังคงต้องย้อนกลับมาที่ ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร พวกเขาถือว่า มันคือสัญลักษณ์ ที่ได้ทำลงไปแล้ว อย่างที่ไม่มีใครกล้าขัดขวางนั่นเอง