MGR Online - ตร.เผย กทม.เล็งพิจารณานำหมุดออกจากสนามหลวง ตำรวจประเมินติดตามสถานการณ์ชุมนุม 24 ก.ย. โวเจรจาสำเร็จเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องการ ได้บันทึกเนื้อหาปราศัยไว้หมดแล้ว
วันนี้ (20 ก.ย.) เวลา 10.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.แถลงความคืบหน้าหลังยุติการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.เป็นผู้รับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ไม่ได้เป็นตัวแทนของสำนักงานองคมนตรี จากนั้นดำเนินการตามขั้นตอนที่ผู้ยื่นมีความประสงค์ เป็นขั้นตอนตามธุรการที่เร็วที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าเป็นสิ่งที่ทางตำรวจอยากให้เกิดขึ้น คือ การเจรจาต่อรองและไม่มีการเคลื่อนไหว หรือกระทำความผิดเพิ่มเติม
ส่วนกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมจะนัดชุมนุมกันอีกในวันที่ 24 ก.ย. ที่รัฐสภา ตำรวจติดตามประเมินสถานการณ์ เพื่อวางกำลังให้เกิดความเหมาะสม แม้เจ้าหน้าที่จะใช้แผน “การชุมนุม 63” แต่ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าเป็นความสำเร็จในเรื่องการเจรจา และเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายอยากให้เกิดขึ้น สำหรับแกนนำที่เข้าร่วมในการชุมนุมครั้งนี้ถูกออกหมายจับมาแล้วหลายคดี ถ้าพบมีการกระทำความผิดซ้ำหรือผิดเงื่อนไขการประกันตัวจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ขณะที่ความผิดที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากการชุมนุมในครั้งนี้ก็ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมทำการปักหมุดจะเข้าข่ายความผิดใดบ้างนั้น ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสนามหลวงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ภายใต้การดูแลของ 2 หน่วยงาน คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย กทม.เป็นหน่วยที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่สนามหลวงทั้งหมด ส่วน ศธ.ดูแลตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมออกจาก ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เข้ามายังสนามหลวง ที่ กทม.เปิดให้ประชาชนใช้ทำกิจกรรมตามที่กำหนด พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการฝ่าฝืนกฎหมาย การดำเนินการพักแรมค้างคืนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ กทม.ในฐานะดูแลจะต้องพิจารณาว่าการค้างคืนดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร
และการที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหมุดบนพื้นซีเมนต์ของท้องสนามหลวง กทม.ต้องประสานกับ ศธ.ว่าการกระทำดังกล่าว เข้าองค์ประกอบความผิดไหนอย่างไร จากการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คาดว่าจะมีความผิดตามกฎหมาย ส่วนการจะดำเนินการนำหมุดออกหรือไม่ ถ้าดูแล้วไม่มีความจำเป็นกับสนามหลวง กทม.ก็ต้องมีการพิจารณาเพื่อนำออกไป การกระทำดังกล่าวมีความผิดต่างกรรมต่างวาระ แม้ว่าเหตุการณ์จะต่อเนื่องกันก็ตาม เบื้องต้นพบความผิด 3 ส่วน ประกอบด้วย ดังนี้
1. ตั้งแต่ออกจาก ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เข้าสู่สนามหลวง ถ้ากรณีสนามหลวงเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่การชุมนุมโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน ถือว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเข้าสนามหลวงแล้วอยู่เกินเวลาที่กำหนดถือว่าเป็นการกระทำผิด 2. เมื่อเข้าไปในสนามหลวงแล้วอยู่ล่วงเลยเวลาที่กำหนด และ 3. การปักหมุดถือว่าเป็นส่วนเกินไม่ใช่สิ่งที่พึงมีในท้องสนามหลวง กทม.ต้องพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ตำรวจได้บันทึกภาพและเสียงผู้ที่กระทำความผิดไว้หมดแล้ว
นอกจากจากนี้ การดำเนินการกรณีแกนนำปราศัยในเนื้อหาไม่เหมาะสมนั้น เริ่มตั้งแต่มีการชุมนุมได้มีตำรวจและพนักงานสอบสวนกว่า 40 นาย เฝ้าสังเกตการณ์รวมทั้งบันทึกภาพและเสียง เพื่อพิจารณาว่าการปราศรัย หรือการให้สัมภาษณ์เข้าข่ายความผิดอย่างไร ถ้าเข้าข่ายความผิดก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ภายหลังการยุติชุมนุมจะทำการเปิดการจราจรรอบพื้นที่โดยเร็วที่สุด คาดว่าไม่เกินเย็นวันนี้จะกลับสู่ภาวะปกติ แต่จะอำนวยความสะดวกให้กลุ่มผู้ชุมนุม เดินทางกลับบ้านโดยปลอดภัยก่อน