วันนี้ (19 ก.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า วันเก็บขยะชายหาดสากล (International Coastal Cleanup Day) ตรงกับเสาร์ที่ 3 ของเดือน ก.ย. ของทุกปี ซึ่งในปี 2563 ตรงกับวันที่ 19 ก.ย. 63 ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถลดอันดับจากประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดจากลำดับที่ 6 เป็นลำดับที่ 10 ของโลก ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวสำเร็จได้เพราะพี่น้องประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจในความร่วมมือของพี่น้องประชาชน คือ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 ที่รัฐบาล ได้ประกาศความร่วมมือร่วมกับบริษัท ห้างร้านกว่า 90 ราย ในการงดแจก ถุงพลาสติกให้กับลูกค้าที่มารับบริการ ซึ่งสามารถลดปริมาณถุงพลาสติกได้ 25,284 ล้านใบ คิดเป็น 228,820 ตัน นับได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศ Roadmap จัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งในปี 2562 ประเทศไทยได้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และพลาสติกผสมไมโครบีดส์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และกำลังจะเลิกใช้โฟมใส่อาหาร ถุงพลาสติก และแก้วพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จในปี 2565
สุดท้ายตนอยากฝากว่า “ชายหาดที่เราเห็นไม่ใช่มีเพียงแค่เม็ดทราย ภายใต้ผืนทราย ผืนน้ำยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล พันธุ์ไม้ชายหาด ขยะไม่ใช่องค์ประกอบของธรรมชาติ การทิ้งขยะบริเวณชายหาด รังแต่จะสร้างปัญหาและผลเสียให้ทั้งสัตว์ และสิ่งแวดล้อม สุดท้ายผลกระทบก็จะตกกับพวกเราที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ นั่นเอง”
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการปฏิบัติงานทั้งหน่วยงานภายในกระทรวง และ หน่วยงานภายนอก ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยในช่วงปี 2562 หน่วยงาน ทส. ร่วมเก็บขยะทะเลกับเครือข่ายภาคประชาชนชายฝั่ง 48 พื้นที่ 24 จังหวัด จำนวน 1,648,349 ชิ้น หรือประมาณ 114 ตัน นอกจากนี้ ในช่วงที่ตนยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประกาศมาตรการ “ชายหาดปลอดบุหรี่” ในพื้นที่ 21 ชายหาด 15 จังหวัด ซึ่งได้ประกาศฉบับแรกเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 60 และสิ้นสุดการบังคับใช้เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งตนได้มอบให้นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ ประกาศอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ 2 ปี สิ้นสุดบังคับใช้ในปี 2565
“อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท การบริหารจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน ขยะทะเลเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายาก อย่างที่เราได้ทราบข่าวมาโดยตลอด ผมได้ย้ำให้ความสำคัญและยกให้การแก้ไขปัญหาขยะทะเลเป็นภารกิจหลักของหน่วยงาน และให้เก็บสถิติอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาต่อยอด ต่อไป”
ส่วน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้ง 7 แห่ง จัดกิจกรรมเก็บขยะในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นความเรียบง่าย และเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งในปีนี้หลายพื้นที่ได้ประสบปัญหาจากพายุโนอึล ทำให้กิจกรรมเก็บขยะชายหาดในบางพื้นที่ต้องเลื่อนออกไป และในบางพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงปัญหาขยะทะเลต่อระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายาก อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ที่สามารถจัดกิจกรรมได้ เช่น สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ได้ผสานความร่วมมือกับจังหวัดระยอง และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รวมทั้งสิ้นกว่า 500 คน จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาด บริเวณหาดแสงจันทร์ ซึ่งหลังจากนี้ กรมฯ ได้กำหนดจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจิตอาสาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564