รมช.แรงงาน ถกประเด็นการคุ้มครองช่วยเหลือแรงงานสตรีและครอบครัว สร้างความมั่นใจในอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตแม่และเด็ก จากผลกระทบก่อนและหลังโควิด-19 สู่การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพัฒนาอาชีพสตรีอย่างยั่งยืน
วันที่ 11 กันยายน 2563 เวลา 15.00 น. ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ คุณธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบายสตรี นำเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้าพบ ประกอบด้วย คุณบัณทิต แป้นวิเศษ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง คุณพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ จากมูลนิธิรักษ์ไทย คุณชลีรัตน์ แสงสุวรรณ จากมูลนิธิพิทักษ์สตรี และเครือข่ายผู้หญิงในสถานบริการ คุณบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงานไทยและข้ามชาติ คุณสุจิน รุ่งสว่าง จากศูนย์เครือข่ายแรงงานนอกระบบ คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการด้านแรงงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทรงพันธ์ ตันตระกูล จากโครงการสุขภาวะแรงงานหญิง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงาน ร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน
ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดนโยบายบทบาทของสตรีเพื่อสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคมเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการกำหนดรูปแบบการพัฒนาศักยภาพ ความเป็นผู้นำแก่สตรีในสังคมเพื่อให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมากขึ้น
กระทรวงแรงงาน มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะฝีมือ การจ้างงาน และการให้ความคุ้มครองดูแลกำลังแรงงานของประเทศ รวมถึงกลุ่มสตรีด้วยนั้น ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น การส่งเสริมการจ้างงาน การประกอบอาชีพ ที่สอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการในการทำงาน เช่น การทำงานแบบเต็มเวลา (Full-time) การทำงานระยะสั้น หรือบางช่วงเวลา (Part-time) ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 -10 ไปพบปะเจ้าของสถานประกอบการ เพื่อขอความร่วมมือในการ Update ตำแหน่งงานว่างที่มี เพื่อนำมาบันทึกข้อมูลใน Platform www.ไทยมีงานทำ.com จำนวน 1,000,000 ตำแหน่ง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่ต้องการหางานทำ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ
รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับกลุ่มแรงงานสตรีนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2563 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แรงงานสตรีในระบบนอกระบบ นักศึกษา ผู้ว่างงาน หลักสูตรในการฝึกอบรม เช่น การใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์เอ็กเซลขั้นสูง การทำศิลปะ ประดิษฐ์ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน การสร้างแอปพลิเคชันโมบายระบบแอนดรอยด์การบริการที่เป็นเลิศ การพัฒนาบุคลิกภาพสำหรับงานบริการ และเนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ได้รับกระทบจาการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นแรงงานสตรีจำนวน 26,720 คน ผู้ผ่านการฝึก จำนวน 24,807 คน หลักสูตรที่ดำเนินการ เช่น การทำศิลปะประดิษฐ์การแปรรูปอาหาร ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี การตลาดออนไลน์ ด้วยโมบายแอปพลิเคชัน เป็นต้น
ในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนั้น ได้ดำเนินการส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิงและครอบครัว อาทิ สวัสดิการด้านการเงินและบริการ เช่น เงินโบนัส เงินช่วยเหลือ เงินรางวัล การประกันชีวิต ชุดทำงาน ที่พักอาศัย รถรับส่ง เป็นต้น ครอบคลุมถึงการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลของบุคคลในครอบครัวของลูกจ้าง ค่าคลอดบุตร ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียนบุตร การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ การพัฒนาความรู้และศักยภาพในการทำงานของแรงงานหญิง เช่น การส่งเสริมการศึกษานอกเวลาทำงาน การส่งเสริมความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในสถานประกอบกิจการ และส่งเสริมการเล่นกีฬา การตรวจสุขภาพ และการประกันสุขภาพ
ข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายแรงงานสตรีในวันนี้ ได้เสนอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ ประเด็นแรก คือต้องการให้ช่วยเหลือแรงงานสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวและผู้หญิงตกงาน ให้ช่วยเหลือทางด้านการหางาน การฝึกทักษะและร่วมรณรงค์ช่วยเหลือกลุ่มแรงงานสตรีในโอกาสสำคัญต่างๆ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือแรงงานสตรีที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้ รมช.แรงงาน กล่าวว่า ได้ประสานกับ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับช่วงให้ความช่วยเหลือเมื่อแรงงานกลับเข้ามาประเทศไทย ทั้งการหาตำแหน่งงานว่าง การฝึกอาชีพอิสระ และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้ความช่วยเหลือตามความประสงค์ ความปลอดภัยของแรงงานสตรีในสถานที่ทำงาน ปัญหาการใช้สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมของแรงงานสตรี ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว เช่น การคลอดบุตร การรักษาพยาบาล การชดเชย นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบ จะมีมาตรการแก้ปัญหาและช่วยเหลืออย่างไร ปัญหาความไม่มั่นคงทางรายได้ของแรงงานสตรีนอกระบบและแรงงานสูงอายุ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ ม.40 การชดเชยการขาดรายได้
“การหารือกันในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำข้อเสนอที่ได้รับไปดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือให้แก่แรงงานสตรี ทั้งการจ้างงาน การฝึกอบรมทักษะฝีมือ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ การคุ้มครองดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งป็นนโยบายที่ต้องขับเคลื่อน ขอให้เชื่อมั่นว่ากระทรวงแรงงานจะให้การดูแลและช่วยเหลือแรงงานสตรีอย่างเต็มกำลัง” รมช.แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย