โฆษก ทร. สวน “ยุทธพงศ์” มีระเบียบราชการชัด ก่อนเซ็นซื้อเรือดำน้ำ เพจ ทร.แพร่บทความ “มีเรือดำน้ำไปทำไม” เตือนบทเรียนอดีตไทยเคยถูกปิดอ่าว 3 ครั้ง ถือเป็นจุดอ่อนด้านภูมิศาสตร์ ยกเยอรมันต้นแบบมีไว้ข่มขวัญศัตรู ยันไทยจำเป็น คุ้มทันใช้งานประกันความเสี่ยงมั่นคง
วันนี้ (6 ก.ย.) พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงถึง กรณีที่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ท้า ผบ.ทร. ดีเบต เปิดเผยเอกสาร Full Powers ว่า “คนเราไม่รู้ ว่าที่ตัวเขาเข้าใจน่ะ มันไม่ใช่ ที่จะมาเทียบกับ การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์” เพราะยังมีกฎระเบียบทางราชการของ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.). สำนักงาน ัยการสูงสุด (อสส.) และ กระทรวงกลาโหม (กห.) อีกหลายด่าน กว่าเขาจะอนุมัติให้กองทัพเรือ ไปดำเนินการได้
ทางด้านเพจกองทัพเรือ โดยโฆษกกองทัพเรือ ที่มี พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ เป็นผู้ดูแล ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “มีเรือดำน้ำไปทำไม ในบริบทข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์” โดยมีรายละเอียดว่า จากการที่ตนได้เคยศึกษาด้านความมั่นคงและการทหารระดับยุทธศาสตร์ จากสถาบันทั้งต่างประเทศและในประเทศมา ติดตามสถานการณ์โลกและภูมิภาค กับสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากแชร์มุมมองเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล เพื่อการเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับทะเล ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน การกินดีอยู่ดีของคนในชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ขอนำเสนอตามข้อเท็จจริง ปราศจากการเมือง และการติดยึดกับทหาร โดยในภาคแรกนี้จะนำไปสู่การได้คำตอบว่า “มีเรือดำน้ำไปทำไม”
อันดับแรก จำเป็นต้องทำความเข้าใจด้านภูมิรัฐศาสตร์ก่อนว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ กล่าวคือ อ่าวไทยเป็นอ่าวปิดลึกเข้ามาในคาบสมุทร ในอดีตก็เคยถูกปิดอ่าวมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ฮอลันดาเอาเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา มาปิดทางออกสู่ทะเลของไทย คงจำเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ได้นะครับ ครั้งที่ 2 ก็เหตุการณ์ ร.ศ.112 สมัยรัชการที่ 5 ที่ฝรั่งเศสมาปิดปากอ่าวไทย จนเราต้องเสียดินแดนไปเกือบเท่ากับขนาดประเทศไทยในปัจจุบัน และครั้งที่ 3 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรือดำน้ำสหรัฐฯ มาจมเรือขนส่งน้ำมันชื่อ ร.ล.สมุยบริเวณปากอ่าวไทย ทหารเรือสละชีพไป 36 นาย มีผลทำให้ไม่สามารถขนส่งน้ำมันจากทางทะเลเข้าสู่ประเทศได้ กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจแทบจะหยุดชะงัก ประชาชนก็เดือดร้อนกันทั่ว ทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้น น่าจะทำให้ทุกท่านตระหนักแล้วนะครับว่า จุดอ่อนด้านภูมิศาสตร์ของเรา ผู้รุกรานสามารถใช้ประโยชน์สร้างความเสียหายให้กับประเทศได้มากมายมหาศาลอย่างไร
เพจดังกล่าว ระบุต่อว่า “แล้วเรามีทางแก้ไขไหมเรื่องนี้คงต้องดูว่าต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร ผมขอเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมันจะทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ประเทศเยอรมันก็เหมือนกับประเทศไทยกลับหัว มีทะเล 2 ฝั่ง แต่ถูกคั่นด้วยประเทศที่ 3 ท่าเรือหลัก คือ Hamburg และ Wilhelmhaven อยู่ในทะเลบอลติกและทะเลเหนือ ซึ่งเส้นทางการเดินเรือจะต้องผ่านหลายประเทศ แม้จะมีคลองคีล แต่ในยามสงครามก็ถูกปิดกั้นโดยง่ายจากทุ่นระเบิดวางโดยข้าศึก จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการป้องปรามต่อประเทศที่จะมาคุกคามเส้นทางเดินเรือ และขนส่งพลังงานเข้าสู่ประเทศ ด้วยการคงประจำการเรือดำน้ำพลังงานไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดชั้น 212A จำนวน 6 ลำ แม้จะยกเลิก Warsaw Pack ไม่มีภัยคุกคามที่เด่นชัดแล้วก็ตาม และที่น่าสังเกตคือ ทะเลบอลติกและทะเลเหนือมีความลึกน้ำเฉลี่ยใกล้เคียงกับอ่าวไทย แต่กองทัพเรือเยอรมันกลับสร้างเรือดำน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สาเหตุหนึ่งคือ เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางรุก ยากต่อการตรวจพบ และให้ปฏิบัติการได้นานขึ้น สามารถเล็ดรอดเข้าไปทำลายกำลังหลักของฝ่ายตรงข้ามได้ ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่อาณาเขตทางทะเลของตน พื้นที่ปฏิบัติการหลักจึงอยู่ภายนอก ซึ่งจะยิ่งสร้างอำนาจการป้องปรามให้สูงยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “Nowhere to be seen but present everywhere” แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “มองไม่เห็นตัว แต่สร้างความสะพรึงกลัวไปทั่ว” ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ อาจไม่ได้มาจากภัยคุกคามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการป้องปราม เพื่อลดข้อเสียเปรียบด้านภูมิศาสตร์ ทำให้ผู้รุกรานที่อาศัยเงื่อนไขความขัดแย้งที่มีอยู่ ต้องยับยั้งชั่งใจว่าอาจถูกกระทำก่อน หรือถูกโจมตีตลบหลังจากภายนอก ทำให้ผลที่ได้รับไม่คุ้มกับความสูญเสีย จึงเลิกล้มความตั้งใจที่จะรุกรานในที่สุด”
“การที่จะตอบว่า มีเรือดำน้ำไปทำไม นอกจากการอุดช่องโหว่ด้านข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์แล้ว ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอีกมากที่จะแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่า เช่น ประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การรับประกันเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมเศรษฐกิจทางทะเล และการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนกับระบบเศรษฐกิจทางทะเลของไทย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องตอบคำถามต่อสาธารณชนอีกจำนวนมาก อาทิ อะไรคือความเสี่ยงที่ต้องจัดหาเรือดำน้ำในสภาวการณ์เช่นนี้ ทำไมไม่ลงทุนกับการปราบเรือดำน้ำจะดีกว่าหรือไม่ ความคิดจัดหาเรือดำน้ำ ถือว่าล้าสมัยหรือไม่เพราะในอนาคตจะมีโดรนใต้น้ำล่าทำลายเรือดำน้ำแล้ว อ่าวไทยตื้น เรือประมงและอุปกรณ์ก็เยอะไม่เป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการของเรือดำน้ำหรือ และเมื่อซื้อมาแล้วมีความสามารถจะดูแลรักษาให้พร้อมใช้ตลอดอายุการใช้งานหรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ผมเห็นว่าจำเป็นต้องมีคำตอบให้ประชาชนผู้เสียภาษีอากรได้ทราบถึงความจำเป็น ความคุ้มค่า และความทันใช้งานเพื่อประกันความเสี่ยงอย่างครบถ้วน”