โฆษกกองทัพเรือ เผยกรณีเครื่องบินฟอกเกอร์ประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง ล้อไม่กาง ขณะลงจอดที่สนามบินนราธิวาส ชื่นชม 2 นักบินช่วยลงจอดได้อย่างปลอดภัย ทำให้ผู้โดยสารภายในเครื่องทั้งหมด 12 คนรอดชีวิต
จากกรณีที่เครื่องบินต่อต้านเรือผิวน้ำ แบบฟอกเกอร์ (Fokker) รุ่น F-27 MK 200 ของกองทัพเรือ ทะเบียนเครื่อง RTN-1202 เดินทางจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ปลายทางท่าอากาศยานนราธิวาส ประสบเหตุล้อไม่กาง ขณะกำลังเตรียมลงจอด ณ สนามบินนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยขณะลงจอด เครื่องบินมีอาการขัดข้องล้อหน้าไม่กาง แต่นักบินทหารเรือ สามารถประคองเครื่องนำลงจอดได้อย่างปลอดภัย ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : ลุ้นระทึก! ล้อหน้าไม่กาง นักบินทัพเรือตัดสินใจนำเครื่องลงฉุกเฉินที่นราธิวาสด้วยล้อหลังเพียงอย่างเดียว (ชมคลิป)
พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และโฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว นักบินที่ 1 คือ น.ท.ชัชวาล ประสิทธิ์เวช ผู้บังคับฝูงบิน 102 กองบิน 1 กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ และ นักบินที่ 2 คือ ร.อ.กอบกิจ สันติกุล โดยนักบินทั้งสองนายได้บังคับอากาศยานเดินทาง จากสนามบินอู่ตะเภา มาปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดนราธิวาส มีผู้โดยสารภายในเครื่องรวม 12 คน ในระหว่างเตรียมลงจอด พบว่า เครื่องบินมีอาการขัดข้อง ล้อหน้าไม่กาง โดยได้พยายามแก้ไขข้อขัดข้องในเบื้องต้นแล้ว ยังคงไม่สามารถแก้ไขอาการดังกล่าวได้ จึงดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อลงจอดฉุกเฉิน และสามารถนำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัยในที่สุด
“กองทัพเรือ ขอแสดงความชื่นชมต่อนักบินทหารเรือทั้งสองนาย ที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถ และใช้สติควบคุมอากาศยานในสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถบังคับเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย ยังผลให้ผู้โดยสารทั้งหมดปลอดภัย และเครื่องบินซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก”
สำหรับเครื่องบินลำดังกล่าว (F-27 MK 200) ผลิตโดย บริษัท ฟอกเกอร์ แอโรสเปซ กรุ๊ป (Fokker Aerospace Group) ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเครื่องบิน หมายเลข 1202 นี้ ได้เข้าประจำการในกองทัพเรือมาแล้ว 36 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2527 โดยใช้ในภารกิจหลากหลาย ในยามปกติใช้เป็นเครื่องบินลำเลียง ช่วยเหลืออพยพประชาชน รวมทั้งลาดตระเวน ตรวจการณ์ ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และพิสูจน์ทราบเป้าหมายทางทะเล ในภารกิจทางทหารใช้เป็นเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ สามารถติดตั้งอาวุธได้หลายประเภท ทั้งอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำ รวมไปถึงอาวุธปล่อยต่อสู้เรือผิวน้ำ แบบนำวิถีฮาร์พูน