รศ.หริรักษ์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ได้รับความรู้จากพลเรือเอกท่านหนึ่ง กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ ชี้ มีความสำคัญทำให้อำนาจต่อรองทางการทหารสูงขึ้น หากมีข้อพิพาททางทะเล และจะสามารถปกป้องผลประโยชน์ชาติได้ดีกว่าไม่มี
จากการณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ 2 ลำจากประเทศจีน โดยหลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะซื้อเรือดำน้ำ ควรนำงบมาพัฒนาประเทศ แต่ฝั่งกองทัพเรือยืนยันว่าต้องซื้อตอนนี้ เพราะมีความจำเป็นตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. เฟซบุ๊ก “Harirak Sutabutr” หรือ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า “นักการเมืองที่พูดกับชาวบ้านแบบหล่อๆ ว่า รัฐบาลยังไม่ควรซื้อเรือดำน้ำ เพราะไม่มีความจำเป็น รัฐบาลควรนำงบประมาณที่จะซื้อเรือดำน้ำมาพัฒนาประเทศดีกว่า ฟังเผินๆ ก็จะเห็นดีเห็นงามไปด้วย แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป จะพบว่าการพูดแบบนี้ในขณะนี้ เป็นการพูดแบบตีกิน โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย
ผมเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าใดนัก แต่วันนี้ได้คุยกับท่านพลเรือเอกท่านหนึ่งที่เกษียณอายุราชการจากกองทัพเรือมานานแล้ว ท่านเป็นผู้ที่รู้เรื่องเรือดำน้ำและการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้มากที่สุดคนหนึ่งของกองทัพเรือ เราก็พลอยได้ความรู้ไปด้วย จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้มาแบ่งปันกัน เป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. เรือดำน้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรือดำน้ำเป็นเรือรบชนิดหนึ่งที่ตรวจจับยากที่สุด แต่มีอำนาจการทำลายล้างสูงมาก ในขณะที่เรือรบที่อยู่บนผิวน้ำ เครื่องบิน รวมทั้งยานพาหนะบนบก ชาติที่มีขีดความสามารถสูงจะสามารถตรวจจับได้ง่าย และสามารถใช้ขีปนาวุธทำลายได้ภายใน 10 นาที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ดังนั้น ประเทศในภูมิภาคนี้ ต่างก็มีเรือดำน้ำประจำการอยู่แล้ว หรืออยู่ในระหว่างการจัดหา ด้วยกันทั้งนั้น และการมีเรือดำน้ำ ทำให้ประเทศมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นเมื่อมีข้อพิพาททางทะเล อันเป็นการปกป้องผลประโยชน์ในทางทะเลของชาติได้ดีกว่าถ้าไม่มี กองทัพเรือของประเทศที่มีเนื้อที่ติดทะเล หากไม่มีเรือดำน้ำ จึงเปรียบเหมือนกับ มนุษย์ที่มีอวัยวะไม่ครบถ้วน ไม่สมดุล ทำให้แสนยานุภาพทางทะเลด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
2. ทะเลที่อยู่ในเขตน่านน้ำไทยไม่ลึกพอที่ใช้เรือดำน้ำได้ หรือถ้าได้ก็ตรวจจับได้ง่ายไม่เป็นความจริง เพราะเรือดำน้ำที่ดำน้ำลึกได้ ก็สามารถดำน้ำตื้นได้ เช่น ในทะเลบอลติก ซึ่งมีน้ำตื้น มีเรือดำน้ำของสวีเดน รัสเซีย และอีกหลายประเทศวิ่งเพ่นพ่านกันเต็มไปหมด และไม่ว่าจะดำน้ำลึกหรือตื้นก็ตรวจจับยากกว่าพาหนะแบบอื่นๆ เรือดำน้ำที่สั่งจากจีนสามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นเมื่ออยู่ในน่านน้ำไทย และดำน้ำลึกเมื่อออกไปยังน่านน้ำสากล
3. ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องการให้ไทยมีความแข็งแกร่งทางการทหาร เพื่อทำให้ต้องหันมาพึ่งพาสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลต่อไทยมากกว่าที่จีนมี และยิ่งไม่ต้องการให้ซื้อเรือดำน้ำจากจีนที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกา เมื่อไทยตัดสินใจจะซื้อเรือดำน้ำ สหรัฐอเมริกาจึงพยายามล็อบบี้บางคนในกองทัพเรือ ให้ซื้อเรือดำน้ำจากเกาหลี ซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าเรือดำน้ำของจีนมาก โดยหากซื้อจากเกาหลีจะมีเงินทอนให้ด้วย
4. การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน เป็นการซื้อแบบจีทูจี แน่นอน พิสูจน์ได้ ไม่เหมือนกับจีทูจีปลอม กรณีจำนำข้าว
5. การจัดซื้อเรือดำน้ำ แรกทีเดียวกองทัพเรือเตรียมของบประมาณจัดซื้อเพียง 2 ลำ แต่จีนแถมให้อีก 1 ลำ ทำให้ไทยจะได้เรือดำน้ำ 3 ลำในราคา 2 ลำ
6. การสั่งซื้อเรือดำน้ำ นับตั้งแต่วันเซ็นสัญญา อีก 6 ปี จึงจะส่งมอบได้ หากเซ็นสัญญาซื้อทั้ง 3 ลำพร้อมกัน อีก 6 ปี จะได้ลำแรก แต่ลำที่ 2 จะได้รับอีก 6 เดือนถัดมา จากนั้นอีก 6 เดือนจะได้รับลำที่ 3 เพราะสามารถผลิตขนานกันได้ แต่เนื่องจากถูกคัดค้านมากในขณะนั้น จึงเพียงทำข้อตกลงที่จะซื้อ 3 ลำ แต่ทำสัญญาซื้อขายทีละลำ ทำให้จะได้รับเรือลำน้ำช้าไปอีก
7. การชะลอการซื้อเรือดำน้ำออกไปไม่มีกำหนด นอกจากจะทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจเนื่องจากได้มีการตกลงกันในระดับผู้นำประเทศและไม่ได้แถมอีก 1 ลำแล้ว ยังทำให้กว่าจะได้รับเรือดำน้ำครบทั้ง 3 ลำช้าออกไปอีก หากมีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จะเกิดความเสียหายมาก
8. รัฐบาลจีนตกลงจะส่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งมาอยู่กับกองทัพเรือ เมื่อส่งมอบเรือดำน้ำลำที่ 1 และจะอยู่จนกว่าบุคลากรของกองทัพเรือจะมีความเชี่ยวชาญในระดับพร้อมรบได้ และนี่เป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด
9. กองทัพเรือได้รับการอนุมัติงบประมาณให้ทำการจัดซื้อเรือดำน้ำ จากรัฐบาล มีลักษณะเป็นงบผูกพันข้ามปี ซึ่งใช้สำหรับสิ่งที่ทำไม่แล้วเสร็จในปีเดียว เช่น การก่อสร้างอาคาร การสร้างถนนหนทาง เป็นต้น ความหมายคืออนุมัติประมาณโดยให้ผูกพันในปีต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงกำหนดเวลาแล้วเสร็จ ดังนั้น ต้องถือว่ากองทัพเรือได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำไปแล้วทั้ง 3 ลำ โดยให้ผูกพันตามที่จ่ายจริงในแต่ละปี จนกว่าจะชำระเงินครบทั้งหมด สำนักงบประมาณมีความผูกพันที่ต้องจัดสรรงบประมาณรายปีให้ทุกปี ซึ่งโดยทั่วไปงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติให้ผูกพันแล้วจะไม่ถูกตัด ทั้งในระดับสำนักงบประมาณและระดับกรรมาธิการงบประมาณ
ขอย้ำว่า นี่เป็นสิ่งที่ผมสรุปได้จากการพูดคุยกับผู้รู้ท่านหนึ่ง ไม่ใช่ข้อมูลและทัศนะของผมโดยตรง และสุดท้ายขอย้ำสิ่งที่ทหารทุกคนทราบดีว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศมีความพร้อมที่จะทำสงครามเท่านั้น”