วันนี้ (3 ก.ย.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จัดงาน TPQI Seminar 2020 - คุณวุฒิวิชาชีพ ตอบโจทย์อย่างไรในยุค COVID-19 เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากคนในอาชีพครอบคลุมทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ และการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติม หลังสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกกลุ่มอาชีพได้มีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานอาชีพมาแล้ว 800 กว่าอาชีพ
ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า เวทีการสัมมนา TPQI Seminar 2020 - คุณวุฒิวิชาชีพ ตอบโจทย์อย่างไรในยุค COVID-19 เกิดขึ้นจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทั้งจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ แม้กระทั่งพิษเศรษฐกิจ เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ทุกคน ทุกอาชีพต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา มาตรฐานอาชีพเองก็ต้องมีการปรับเสริมเพิ่มเติมเช่นกัน
ดร.นพดล ย้ำว่าที่ผ่านมาหลายคนมักนึกถึงแต่คุณวุฒิด้านการศึกษา กำลังคนของประเทศที่อยู่ในกำลังแรงงานกว่า 37 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็นผู้ที่อยู่ในระดับประถมศึกษากว่า 14 ล้านคน ระดับมัธยมศึกษาอีกกว่า 11 ล้านคน และจำนวนไม่น้อยต้องการการพัฒนา ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพจะเข้ามารองรับคนเหล่านี้ เพื่อเข้าสู่การพัฒนาอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐาน มีหน่วยงานภาครัฐให้การรับรอง เนื่องจากการแข่งขันในระดับสากลให้ความสำคัญในเรื่องของคุณวุฒิวิชาชีพ และนี่จะเป็นการพลิกโฉมการพัฒนากำลังคนในประเทศไทย
ตอกย้ำความสำคัญของระบบคุณวุฒิวิชาชีพระหว่างการเสวนา สร้างอาชีพในยุค New Normal ด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดย นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ย้ำว่า พื้นฐานธุรกิจในยุค New Normal ไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะกองหลังยังคงเป็นการผลิต และกองหน้าคือการตลาด โดยเฉพาะธุรกิจด้านอาหารที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ สวนทางกันธุรกิจนี้กลับเติบโตขึ้น เพียงแต่คนในอาชีพต้องปรับตัวนำระบบออนไลน์มาใช้ให้เกิดประโยขน์ รวมทั้งค้นหาตัวเองให้เจอว่าเก่งทำหน้าที่ไหน แต่หากยังไม่เก่งแนะนำให้เข้าสู่การพัฒนาตัวเองก่อน เพื่อให้เป็นมืออาชีพก่อนลงสนามแข่งขัน
ขณะที่ “โค้ชมิ้ม” น.ส.เจนจิรา ศรีดี ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Marketing บอกว่า จากนี้ไปอาชีพที่คิดว่ามั่นคง อาจจะไม่มั่นคงอีกต่อไป การปรับตัวในอาชีพยุค New Normal เริ่มได้จากโทรศัพท์มือถือของตัวเอง เพราะเพียงแค่มือถือเครื่องเดียวก็สามารถสร้างอาชีพได้ แต่หัวใจของอาชีพคือการเรียนรู้อย่างมีมาตรฐาน อย่ากลัวที่จะใช้เทคโนโลยี เพราะหากเราใช้เครื่องมือเป็นอย่างมืออาชีพ เราก็สามารถต่อสู้กับคู่แข่งและเพิ่มยอดการขายจากออนไลน์ได้เช่นกัน
ด้าน นายสมศักดิ์ บุญคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด ยอมรับว่า ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ทุกคนต้องปรับตัว สิ่งใดที่ไม่เคยทำ ต้องทำ และทำให้ได้อย่างมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือกระทั่งจำหน่ายอาหารพื้นถิ่นผ่านออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อได้ และสิ่งที่การท่องเที่ยวชุมชนต้องการก็คือทำธุรกิจให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อการก้าวสู่สนามแข่งขันกับทุกประเทศทั่วโลก
ขณะที่การเปิดเวทีรับฟังความเห็นทิศทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพให้สอดรับกับยุค New Normal ผู้ร่วมการประชุมมากกว่า 200 คน ได้เสนอแนะให้ สคช. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 7 อาชีพ เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนให้เป็นมืออาชีพต่อไป