“กมธ.ดีอีเอส” จัดสัมมนา "เทคโนโลยีดิจิทัลพลิกวิกฤต รีสตาร์ทประเทศไทยในยุคโควิด-19" หวัง ปชช.นำข้อมูลปรับใช้ในชีวิตประจำวัน "กัลยา" ชี้โลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีรุดหน้า ต้องพัฒนาคน เพื่อพัฒนาส่วนรวม
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.63 ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา "เทคโนโลยีดิจิทัลพลิกวิกฤต รีสตาร์ทประเทศไทยในยุคโควิด-19"
โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวรายงานว่า ขณะนี้ประเทศไทยและทั่วโลกมีการระบาดโควิด-19 ซึ่งกระทบกับด้านเศรษฐกิจ สังคม และทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และมีการคาดการณ์ว่าการระบาดจะทำให้ชีวิตของทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ดังนั้นการใช้ชีวิตวิถีใหม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า กมธ.ดีอีเอส ในฐานะที่มีหน้าที่กำกับด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำความรู้เผยแพร่ให้ประชาชนเพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อินเตอร์เน็ตชุมชน ข้อมูลการเดินทาง ข้อมูลด้านสาธารณสุข ดังนั้น กมธ.ดีอีเอสจึงได้จัดสัมมนานี้ขึ้น เพื่อหวังว่าจะมีประโยชน์ทำให้ทุกคนจะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
ด้าน น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวเปิดสัมมนาตอนหนึ่งว่า เราทราบกันดีถึงวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบ ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง วันนี้เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และเทคโนโลยีต่างๆในวันนี้ มีการพัฒนารุดหน้าไปมาก โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ที่ทุกประเทศยอมรับว่า จะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมอย่างเห็นได้ชัด เราจะเห็นได้ว่ารอบตัวเรามีเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบสนองการดำรงชีวิต และสามารถนำมาพัฒนาประเทศให้เข้มเแข็งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และยังรวมถึงการเสริมสร้างอาชีพในยุคโลกใหม่
“หวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้ทุกท่านจะได้มีความรู้นำไปพัฒนาทักษะชีวิต และสร้างศักยภาพอันเข้มแข็งเพื่อนำไปพัฒนาสังคมได้ต่อไป” น.ส.กัลยา ระบุ
ขณะที่ นายมนศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผอ.ฝ่ายเดตาโซลูชันส์ภาครัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) บรรยายหัวข้อ "Government Data Solution : Connecting Data , Connecting Governmemt" ว่า ในอนาคตระบบดิจิทัลต่างๆจะมีการพัฒนาที่ไปไกลมาก ระบบ AI จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น รวมทั้งระบบการนำทางต่างๆจะละเอียดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของผู้คน เช่น คนตาบอดที่จะมีระบบการนำทางที่เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศ หลายบริษัทมีการลงทุนสร้างดาวเทียม สร้างโปรแกรมต่างๆ ซึ่งหากใครทำได้ละเอียดก็จะเป็นที่นิยมและมีคนใช้มาก ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้จะเป็นผลดีกับผู้บริโภค
นายภาคภูมิ ไตรพัฒน์ ผู้ชำนาญด้านการบริการจัดการชื่อโดเมนและการอภิบาลอินเตอร์เน็ต จากมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย บรรยายหัวข้อ "อนาคตบรอดแบรนด์เพื่อชุมชน" ว่า การที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆสามารถใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้เป็นสิ่งสำคัญ และการลดช่องว่างของการใช้อินเตอร์เน็ตจะทำให้ประชาชนมีศักยภาพมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆนั้นเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งประเทศไทยนั้นเราควรมีการพัฒนาโดเมนและอีเมล์ ที่เป็นของประเทศไทยเราเอง โดยเป็นภาษาไทย เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ทั้งนี้การสร้างโครงข่ายให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจะทำให้ประเทศเจริญแบบก้าวกระโดด เพราะประชาชนจะได้ความรู้ทางด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นการพัฒนาอินเตอร์เน็ตจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนชนบทกับคนเมืองได้เป็นอย่างมาก.