xs
xsm
sm
md
lg

“กัลยา” เชื่อ 5G ช่วยดันศักยภาพไทยสู้ผู้นำโลก “สุทธิพล” ชี้ยกระดับนวัตกรรมประกันภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กัลยา รุ่งวิจิตรชัย
"กัลยา" ชี้เทคโนโลยี 5G เป็นรากฐานสำคัญพลิกโฉมอุตสาหกรรม เปรียบไม่ต่างจากยุคเริ่มใช้ไฟฟ้าเมื่อ 100 ปีก่อน ชี้ถึงเวลาไทยนำประโยชน์มาใช้เพื่อปลดปล่อยศักยภาพสู่ผู้นำโลก "สุทธิพล" ชี้ 5G ช่วยยกระดับนวัตกรรมประกันภัย คุ้มครองสิทธิ ปชช.ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.63 ที่โรงแรมสยามแคมปินสกี้ กทม. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ SM Magazine จัดสัมมนา “5G & The Future of Industries” (5G กับอุตสาหกรรมไทยในอนาคต) โดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

น.ส.กัลยา กล่าวตอนหนึ่งว่า สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยี 5G เปรียบเสมือนรากฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพลิกโฉมอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจในระยะยาว ด้วยเทคโนโลยี 5G ถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่ถูกเปรียบเปรยว่า การมีเทคโนโลยี 5G ก็ไม่ต่างจากยุคสมัยที่โลกเริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลให้ธุรกิจอุตสาหกรรมทุกแขนงในยุคนั้น สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมได้ในเวลาอันรวดเร็ว

น.ส.กัลยา กล่าวอีกว่า การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G ในยุคปัจจุบันเริ่มมีการใช้กันมาระยะหนึ่งแล้วในประเทศไทย ภาครัฐเองก็มีความตั้งใจเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ให้เชื่อมโยงและต่อยอดไปสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในอนาคต ด้วยความมั่นใจว่าเทคโนโลยี 5G เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคต่อจากนี้ ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจอุตสาหกรรมไทยควรนำประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G มาใช้เพื่อปลดปล่อยศักยภาพและสร้างประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษบกิจของประเทศไทยโดยรวมให้เติบโตสู่ระดับชั้นนำของโลกต่อไป

สุทธิพล ทวีชัยการ
ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวบรรยายเรื่อง "5G ยกระดับนวัตกรรมประกันภัย คุ้มครองสิทธิประชาชน" ว่า เทคโนโลยี 5G จะมีบทบาทในวิถีชีวิตแบบ New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัย ที่เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนถึงการสิ้นสุดกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย อย่างการเริ่มต้นที่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ลูกค้า การใช้เทคโนโลยี 5G จะช่วยเพิ่มการใช้งานอุปกรณ์ตรวจวัด เช่น Sensor และอุปกรณ์ IoT ต่างๆ ที่มีการรับส่งข้อมูลตลอดเวลาได้ในปริมาณที่มากขึ้น โดยมีต้นทุนที่ต่ำลงมาก เมื่อมีการรับส่งข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและความต้องการลักษณะความคุ้มครองของลูกค้าที่รวดเร็วฉับไวให้แก่บริษัทประกันภัยแล้ว การพัฒนารูปแบบความคุ้มครองและเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความต้องการของลูกค้าก็จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว หรือเป็นอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น

นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า ในส่วนต่อมาที่เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจประกันภัย คือ กระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านประกันภัยให้แก่ลูกค้า ซึ่งเมื่อเกิดโควิด-19 การพบเจอหน้ากันกลายเป็นเรื่องที่ต้องระวัง นำมาซึ่งการใช้ระบบ Teleconference หรือผ่านโปรแกรมแชตแบบเห็นหน้าต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถทำได้อย่างเต็ม ประสิทธิภาพได้เลย หากขาดเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่สามารถตอบสนองการรับส่งข้อมูลได้อย่างมี ประสิทธิภาพอย่างเทคโนโลยี 5G ที่ข้ามาช่วยเชื่อมต่อผู้คนได้เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ 5G ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง คือ เรื่องกระบวนการเรียกร้องเงินหรือค่าสินไหมทดแทน เมื่อเกิดเหตุขึ้น อาทิ หากนำเทคโนโลยี 5G ปรับเข้ามาใช้ในกระบวนการนี้ ตัวลูกค้าอาจไม่มีความจำเป็นต้องรอผู้สำรวจภัยเดินทางมาถ่ายรูป โดยลูกค้าสามารถถ่ายรูป หรือ ถ่ายวิดีโอสภาพอุบัติหตุ และนำส่งให้บริษัทไปประมวลผลพิจารณาเคลมได้เองเลย เป็นต้น

"การผนวกเทคโนโลยี 5G กับการประกันภัยในเรื่องของการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เอาประกันภัยนั้น ยังให้ประโยชน์ในด้านการคุ้มครองสิทธิประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยฉพาะการแก้ไขปัญหความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันเพราะหากมีข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงมาก และชัดเจนเพิ่มขึ้น ทั้งจากอุปกรณ์ตรวจจับตรวจวัดต่าง ๆ และอุปกรณ์สวมใส่ มากเพียงใด ข้อเท็จจริงก็จะมีมากขึ้น ช่วยประกอบการตัดสินใจ ช่วยให้การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ กระทำได้โดยเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายได้อย่างรวดเร็ว” นายสุทธิพล ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น