ตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกความเชื่อมั่นบนเวที Thailand Focus 2020 ชูหุ้นไทยแข็งแกร่งฟื้นตัวเร็ว ใช้เวลาเพียง 2 เดือน กลับมาแตะระดับใกล้ก่อนเกิดโควิด-19 มั่นใจบริษัทจดทะเบียนไทยยังเนื้อหอม ปรับตัวเก่งสู่ยุคนิว นอร์มอล
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวเปิดงาน Thailand Focus 2020 : Resiliency to Move Forward โดยระบุว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและชะงักงันของเศรษฐกิจโลกด้วย การแพร่อย่างรวดเร็วทำให้เกิดความตระหนกในทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็นประเทศ สังคม หรือครัวเรือน ทำให้ ตลท.ใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงว่าตลาดทุนของไทยมีความแข็งแกร่งและทนทานต่อวิกฤตนี้อย่างไร และบริษัทต่างๆ ของไทยได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองเข้าสู่โลก New Normal ไปอย่างไรบ้าง
ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ความกังวลเรื่องการระบาดของโควิดภ19 และภาวะของเศรษฐกิจโลกทำให้ตลาดทุนปั่นป่วน ดัชนี SET ร่วงลงอย่างรุนแรงในเดือน มี.ค.และเม.ย.ที่ผ่านมา แต่ด้วยปัจจัยแห่งความแข็งแกร่งทนทานของตลาดทุนไทย ทำให้สามารถผ่านพ้นช่วงยากลำบากนั้นมาได้ด้วยดี โดยดัชนี SET ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกที่ยืนยันในประเทศเมื่อวันที่ 31 ม.ค.63 ทำให้ดัชนี SET ร่วงลงถึง 37% และดีดกลับมาในปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และแตะระดับใกล้กับก่อนวิกฤตในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
ขณะที่ประเทศไทยกำลังผ่อนคลายในธุรกิจต่างๆ ให้กลับมาประกอบการได้เช่นเดิม รวมทั้งอนุมัติให้มีการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้อย่างจำกัด ดัชนีของตลาดและอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งที่สุดจะอยู่ในภาคผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนโควิด-19 และภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีดิจิทัล โลจิสติกส์ และบริการสุขภาพ ต่างก็มีศักยภาพสูงในโลกแห่ง New Normal นี้
ปัจจัยความแข็งแกร่งอีกด้านมาจากโอกาสที่มีอยู่มากมาย ในช่วงเวลาที่ IPO ใหม่ๆ ที่เคยถูกเลื่อนออกไปในช่วงการระบาดโคิด-19 ที่รุนแรง ตอนนี้ได้เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากที่ธุรกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่าจะมีความชะงักงันจากโรคระบาด แต่ก็มีการระดมทุนในตลาดสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบได้กับระดับของหลายปีที่ผ่านมา และตอนนี้ก็ยังมีหลักทรัพย์ถึง 30 ตัวที่กำลังรอเปิดตัวอยู่
และปัจจัยสุดท้ายมาจากความกระตือรือร้นในการลงทุนในตลาดตราสารทุน ในขณะที่รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ และประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ บรรดานักลงทุนท้องถิ่นก็กลับมาคึกคัก มีการเข้ามาซื้อขายในตลาดของนักลงทุนรายย่อยพุ่งขึ้น และฉุดให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์/วันในปีนี้ โดยที่ในช่วงครึ่งแรกปีแรกของปี 63 มีบัญชีซื้อขายรายย่อยเปิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 190,000 บัญชี หรือ 34% จากสิ้นปี 62
นอกจากนี้ การเกิดโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ต้องคิดหายุทธศาสตร์ใหม่ สร้างฐานรายได้ใหม่ รวมทั้งหาแนวทางในการก้าวต่อไปอย่างมั่นคง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal แบ่งเป็น 2 มุมมอง ได้แก่ มุมมองการปรับตัว และมุมมองความยั่งยืน
ด้านมุมมองการปรับตัวสำหรับบริษัทที่ต้องการอยู่รอดจากปัญหาที่ท้าทายในอนาคต จึงหาแนวทางที่ทำให้สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อสนองตอบต่อภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจความคิดเห็นของ ตลท.ที่ทำเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นเห็นว่าบริษัทของไทยนั้นมีความสามารถในการปรับตัวใน 4 ด้าน
ด้านแรก เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ให้เหมาะกับยุค New Normal เช่น อีคอมเมิร์ซ การวิเคราะห์ข้อมูล การปรับปรุงมาตรฐานสุขอนามัยถูกนำเข้ามาเพื่อให้สินค้าและบริการนั้นถูกส่งไปยังกลุ่มลูกค้าโดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพใดๆ ก็ตาม ด้านที่ 2 บริษัทต่างๆ ได้มีกระบวนการปรับตัวเพื่อประกันความต่อเนื่อง ความเชื่อมโยง และการเข้าถึงบริการทั้งหลายที่มีอยู่
ด้านที่ 3 คือ การพิจารณาถึงสภาพคล่องของกระแสเงินสด และการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัป รวมไปถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้
และด้านที่ 4 เป็นการบริหารคน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับบริษัทที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า เพราะพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของบริษัทในโลก New Normal บริษัทต่างๆ ได้มีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีความสุขและปลอดภัย เช่น แพลตฟอร์มที่ทำให้สามารถทำงานได้ทุกที่ การประชุมออนไลน์ หรืออื่นๆที่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการอำนวยความสะดวกในการทำงานของพนักงาน
ขณะที่มุมมองด้านความยั่งยืนนั้น บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยอมรับแนวทาง ESG และความยั่งยืนเข้ามาในการดำเนินงานแล้ว ที่เป็นเหมือนหนึ่งว่าบริษัทเหล่านั้นได้ออกไปแข่งขันในระดับโลกผ่านลงทุนในตลาดต่างๆ ทั่วโลกที่สามารถใช้ความยั่งยืนในการลงทุนได้
นายภากร กล่าวว่า เป็นเวลา 6 ปีติดต่อกันแล้วที่ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) มากที่สุดในบรรดา บจ.ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้ บจ.ของไทยก็มีคะแนนสูงสุดใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมของดัชนี DJSI
และเพื่อที่จะส่งเสริม บจ.ไทยให้รับ ESG และความยั่งยืน เข้ามาเป็นกลยุทธ์การดำเนินงานหลัก ทาง ตลท.ได้ออก Thailand Sustainability Investment Index (THSI) เพื่อเป็นดัชนีวัดคุณค่าของบริษัทต่างๆ ว่าผ่านมาตรฐานแห่งความยั่งยืนหรือไม่ และมีรายชื่อในดัชนีดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นจาก 51 บริษัทในปี 59 มาเป็น 98 บริษัทในปี 62 และมีมูลค่าทางหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) รวมกันถึง 356 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 65% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
"เพื่อจะก้าวไปข้างหน้าเราจะกระตุ้นให้บริษัททุกขนาดให้หันมาสนใจ ESG และความยั่งยืนให้มากขึ้น เพราะแนวคิดนี้จะกลายเป็นมาตรฐานหรือเกณฑ์การวัดสมรรถนะ เพื่อหาสิ่งที่ควรต้องมีเมื่อบริษัททำการระดมทุน เราเชื่อมั่นว่าบริษัทที่มี ESG เป็นแนวทางปฏิบัตินั้นจะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง และหวังว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามายังบริษัทที่มีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น" นายภากร กล่าว
ทั้งนี้ ในภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปยังมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นทั่วโลกโดยไม่มีคำเตือน ทุกคนจะต้องพยายามรักษาสมดุลแห่งความกังวลเรื่องสุขภาพ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับตัวสู่ New Normal รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง ตลท.เชื่อว่า บจ.ไทยต่างก็พร้อมจะยกระดับขึ้นเพื่อให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และทำให้ทุกคนในโลกเห็นถึงโอกาสมากมายในประเทศไทย ท่ามกลางความท้าทายที่หลากหลาย รวมทั้งความแปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งที่สามารถคาดการณ์ได้และคาดการณ์ไม่ได้