วันนี้ (29 ส.ค.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และโฆษกอนุกรรมาธิการคมนาคมทางน้ำ ได้โพสต์คลิปแถลงข่าวที่รัฐสภา บนเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภา นายภูดิท อินสุวรรณ์ ส.ส.พิจิตร พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการคมนาคมและขนส่งทางน้ำ พร้อมด้วย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกวุฒิสภา มีการแถลงผลการประชุมคณะอนุ กมธ. เกี่ยวกับการพิจารณาการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยจะมีการขุดคลองเพื่อพัฒนาการคมนาคมทางน้ำ ซึ่งขณะนี้คลองในกรุงเทพฯ ที่สามารถใช้เดินทางสัญจรมีเพียง 2 เส้นทาง คือ คลองภาษีเจริญและคลองแสนแสบส่วนลำคลองอื่นๆ นั้นจะมีประตูระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุนเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางขนส่งทางน้ำได้ จึงมีการเสนอให้ศึกษาการแก้ปัญหานี้ทั้งระบบโดยมีกาเสนอให้ขุดคลองเพิ่ม ทำเขื่อนกั้นน้ำ ซึ่ง กมธ.จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบทั้งข้อดีและข้อเสียเพื่อจะรายงานต่อคณะกมธ.การคมนาคมต่อไป
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ตนเสนอการแก้ไขปัญหาการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ผ่านคณะอนุ กมธ. จะพิจารณาตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาศึกษาการคมนาคมและขนส่งทางน้ำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 63 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช พร้อมด้วย นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ เขต 2 พรรคภูมิใจไทย, นายมณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 20 พรรคภูมิใจไทย, นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส. พรรคภูมิใจไทย และ นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 23 พรรคภูมิใจไทย มีความเห็นขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณาทำเขื่อนป้องกันกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ให้น้ำท่วมหรือน้ำขังอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
เนื่องจาก กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปนกลาง 1.5-2 เมตร ได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญของประเทศเทศไทย ปรากฎข้อมูลจากกรมแผนที่ทางบกที่สำรวจมาหลาย 10 ปี พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังทรุดตัวอย่างต่อเนื่องประมาณ 50-80 เซนตีเมตร ขณะที่ข้อมูลระตับน้ำทะเลจากการวิเคราะห์และวิจัยของคณะกรรมการองค์การสหประชาชาติหรือ ยูเอ็น ให้ข้อมูลว่าระดับน้ำในมหาสมุทรเริ่มมีอัตราเฉลี่ยสูงขึ้นทุกปีๆ ละ 5-10 เซนติเมตร เนื่องจากสภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด ดังนั้น ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ปริมาณน้ำทะเลอาจสูงถึง 1.5 หรือ 2 เมตร หากเป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฎพื้นดินในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะต้องอยู่ใต้ระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 1.5 หรือ 2 เมตร
ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามมา อาทิ น้ำเค็มที่สูงขึ้นจะไหลเข้าไปในคลองประปาทำให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะไม่มีน้ำบริสุทธิ์ดื่มและบริโภค นอกจากนี้ ทำให้การจราจรและการขนส่ง รวมถึงเศรษฐกิจของกรุงเทพฯจะต้องหยุดหมด รวมทั้งโรงงานที่อยู่ใน จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นับหมื่นโรงงานก็ไม่สามารถจะทำงานได้ และทำให้คนตกงานถึง 300,000 คน อีกทั้งการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวหสายล้านคนต่อปีต้องหยุดชะงักเพราะน้ำท่วม ถ้าไม่ทำการป้องกันตั้งแต่ปัจจุบัน อนาคตอาจจะไม่ทัน เพราะการสร้างเขื่อนปิดปากอ่าวแม่น้ำใหญ่โดยให้มีช่องว่างระหว่างชายฝั่งทะเลปากอ่าวกับเขื่อนเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ด้วย ต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 5 ปี แม้จะลงทุนเป็นแสนล้านบาท แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีมูลค่าเป็นล้านล้านบาทในอนาคต
ด้วยเหตุผลดังกล่าวเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา รัฐบาลจึงควรตั้งองค์กรหรือหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบ โดยตั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรมธนารักษ์ กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานเขต เป็นต้น เพื่อร่วมกันศึกษาหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนก็จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงขอเสนอญัตติดังกล่าวมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาในเรื่องทำเขื่อนป้องกันกรุงเทพฯและปริมณฑลไม่ให้น้ำท่วม หรือน้ำขังอย่างเป็นระบบและยั่งยืน