xs
xsm
sm
md
lg

“ชลน่าน” แจงไทม์ไลน์ประชุมสภาเตรียมลงมติรับหลักการแก้ รธน.ก่อนปิดสมัยประชุม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอง ปธ.วิปฝ่ายค้าน แถลงแจงไทม์ไลน์ประชุมสภา เตรียมลงมติรับหลักการแก้ รธน.ก่อนปิดสมัยประชุม ชี้ร่างในสภาเห็นพ้องตั้ง ส.ส.ร. แต่ต่างกันในรายละเอียด

วันนี้ (26 ส.ค.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงผลการประชุมร่วมกันของวิป 4 ฝ่าย ว่า การประชุมร่วมกันในครั้งนี้มีตัวแทนของ ส.ว.มาหารือด้วยถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในเดือน ก.ย. ทั้งนี้ ในเดือน ก.ย.ก่อนปิดสมัยประชุมสภาจะมีวาระการประชุมทั้งการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามลำดับ ดังนี้ วันที่ 1 ก.ย.ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎหมายให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด 2. ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และ 3. ร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด วันที่ 9 ก.ย. ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น โดยเป็นญัตติที่ฝ่ายค้านจะสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง จะใช้เวลาประชุม 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 10 ชั่วโมง ส่วนที่เหลือจะเป็นเวลาของรัฐบาล

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันที่ 10 ก.ย. ประชุมสภา พิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน วันที่ 16-18 ก.ย. ประชุมสภาฯพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยเมื่อสภาลงมติให้ความเห็นชอบแล้วทางสภา และจะส่งร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภาให้กับวุฒิสภาต่อไป ซึ่งวุฒิสภาจะพิจารณาในวันที่ 21-22 ก.ย. จากนั้น วันที่ 23-24 ก.ย.เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการ

รองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มติของสภาในวันที่ 10 ก.ย.ต่อรายงานผลการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไร จะไม่มีผลต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 23-24 ก.ย. เพราะข้อสังเกตุของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจะมีผลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับสภาฯแต่อย่างใด แต่กระนั้นอาจมีผลทางอ้อมต่อชั้นการพิจารณาของร่างรัฐธรรมนูญในชั้นคณะกรรมาธิการของรัฐสภา

“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในรัฐสภาตอนนี้ต่างมีหลักการเหมือนกัน คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านเสนอให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง แต่ของพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งบางส่วน แต่อย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วมของวิป 3 ฝ่าย ในวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าวุฒิสภา และแต่ละฝ่ายจะลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอมายังสภาอย่างไร เพราะทั้งสามฝ่ายหารือเฉพาะเรื่องการบรรจุระเบียบวาระเท่านั้น ส่วนการลงมติจะเป็นอย่างไรจะต้องให้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมรัฐสภาก่อน” นพ.ชลน่าน กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น