นายกฯ ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ประเมินสถานการณ์หลังพบซากเชื้อจากการกักตัวหลัง 14 วันไปแล้ว ด้าน นพ.อุดม ยืนยันความจำเป็นพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับ ม.ออกซฟอร์ด เพื่อให้ได้สิทธิทำวัคซีน ได้รับมาตรฐานโลก ผลิตและจำหน่ายได้
วันนี้ (20 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เรียกประชุม คณะ ศบค.ชุดเล็ก ซึ่งประกอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรึกษา ศบค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาฯ สมช. พล.อ.ณัฐพล นาคพานิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมประชุมบนตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 หลังผ่อนคลายมาตรการเป็นระยะไปแล้ว และล่าสุดพบกรณี 2 หญิงไทย ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและผ่านการกักกันตัว 14 วันแล้ว กลับบ้านใช้ชีวิตปกติ แต่หลังจากนั้นเข้าตรวจร่างกายเพื่อเดินทางกลับไปต่างประเทศ พบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 แต่เชื้อน้อยมาก รวมถึงเตรียมการการผ่อนปรนเปิดให้ผู้ชมกีฬา คอนเสิร์ต การเดินทางเต็มรูปแบบภายในประเทศ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ
ก่อนการประชุม นพ.อุดมอธิบายกรณี 2 เคสหญิงไทยล่าสุด ว่าซากเชื้อโควิด-19 ไม่แพร่ระบาด จากการยืนยันของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าทั้งสองผ่านการกักกันตัวของรัฐ 14 วัน โดยไม่พบเชื้อก็ไม่มีปัญหา แต่ทั้งนี้การพบซากเชื้อในไทยก็พบอยู่ประปราย ยืนยันว่าซากเชื้อไม่ติดต่อ ขอประชาชนสบายใจได้ อย่าตื่นตระหนก โดยจะไม่ส่งผลต่อการผ่อนคลายมาตการใดๆ เพราะที่ผ่านมาไทยไม่เคยลดมาตรการด้านสาธารณสุข และการพบซากเชื้อก็ไม่ใช่การแพร่ระบาดรอบที่ 2
สำหรับการประชุมในวันนี้ก็จะมีการพิจารณาให้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ให้ประชาชนเปิดเข้าชมกีฬา หรือคอนเสิร์ต ตามขนาดพื้นที่ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่พิจารณางบประมาณ 600 ล้านบาท ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดนั้น นพ.อุดมชี้แจงว่า ต้องทำความเข้าใจว่าหากไทยดำเนินการเองต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งประเทศเรามีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่พร้อมผลิตได้ แต่เมื่อยกระดับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จะพัฒนาผลิตวัคซีนได้ถึง 200 ล้านโดส เมื่อมีความร่วมมือก็จะเป็นบริษัทที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก และสามารถจำหน่ายวัคซีนให้ต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโควิด-19 คือการผลิตวัคซีนมาป้องกัน
นพ.อุดมยังยืนยันมีความจำเป็นที่คงต้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการป้องกันโควิด-19 เพราะเป็นกฎหมายตัวเดียวที่รวมหลายหน่วยงานไว้ โดยขอให้อดทนอีก 1 เดือน