“อภิสิทธิ์” ร่วมงานเลี้ยง ปชป. ย้อนลาออกเพราะไม่หนุน รธน.60-สืบทอดอำนาจ เพราะเป็นต้นเหตุขัดแย้งตามที่เกิดขึ้นตอนนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ย้ำต้องแก้ปมวุฒิฯ เสียดาย ปชป.ไม่ทำต่อเนื่อง พร้อมปลุกความกล้าหาญ
วันนี้ (19 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่รัฐมนตรีในส่วนของพรรคสลับกันจัดรายเดือน ซึ่งจัดโดย นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ถึงคิวจัดเลี้ยงที่ โรงแรมเดอะ สุโกศล โดยใช้ชื่อว่า “ประชาธิปัตย์รวมใจเป็นหนึ่งเดียว” ภายในงานมีรัฐมนตรีของพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค แกนนำพรรค ส.ส. อดีต ส.ส. อดีต ส.ก อดีต ส.ข. และตัวแทนสาขาพรรค ราว 150 คน ร่วมงาน โดย นายอภิสิทธิ์ กล่าวเปิดใจตอนหนึ่งว่า เหตุที่ตนตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะต้องการย้ำถึงการไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่จะสร้างปัญหาตามมา รวมถึงการที่ตนประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เพราะไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจ เพราะจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่ที่จะทำให้ประเทศเกิดปัญหา และจนถึงวันนี้ก็ได้เกิดสิ่งที่ตนคาดการณ์ไว้แล้วว่า เกิดขึ้นจริง คือ สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติพรรคว่า ไปเข้าร่วมรัฐบาล ตนก็ยอมรับมตินี้ เพราะตนเป็นสมาชิกพรรค
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวต่อถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค ทั้งนี้ ตนเคยบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และหัวใจก็ไม่ได้อยู่ที่มาตรา 256 เพราะสิ่งสำคัญ คือ กรณีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ แต่กลับมีสิทธิ์ร่วมโหวตลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จุดนี้ต่างหากที่เราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อให้พ้นจากปัญหาต่างๆ แต่น่าเสียดายที่พรรคไม่ได้ดำเนินการเรียกร้องจุดนี้ต่อเนื่อง ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่รณรงค์ชูเรื่องขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อน เรากลับปล่อยให้พรรคอื่นชิงการนำในเรื่องนี้ จึงขอให้คนของพรรคมีความกล้าหาญที่จะทำเรื่องนี้ ซึ่งไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคขนาดไหน ขอย้ำว่า พรรคเราต้องกล้าหาญที่ยืนหยัดในการทำหน้าที่เพื่อความถูกต้อง และต้องเป็นหลักให้กับประชาชนและประเทศ เพราะพรรคเราอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้เพราะจุดยืนด้านประชาธิปไตยที่ชัดเจน