xs
xsm
sm
md
lg

“กลาโหม” เจ้าภาพฝึก 20 หน่วยงานรับมือโควิด-19 ระลอกสอง คาดเน้นควบคุมต่างด้าว-ริมชายแดน-ช่องทางเข้าออก-พื้นที่เฉพาะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กลาโหม เจ้าภาพฝึกซ้อมรับมือโควิด-19 ระลอกสอง ร่วมกว่า 20 หน่วยงาน คาดเน้นควบคุมกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดน ช่องทางเข้าออกและพื้นที่เฉพาะ เตรียมซ้อมระดับอำนวยการ ฝึกสถานการณ์พิเศษ ลงลึกถึงปัญหาธุรการ ไอที สั่งการทางวิทยุสื่อสาร รวมถึงขั้นตอนอำนวยความสะดวกของแต่ละหน่วยงาน เน้นฝึกศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มย่อยพื้นที่ กทม. ชลบุรี สมุทรสาคร อยุธยา พ่วงเชียงใหม่ ตาก สระแก้ว ระนอง สุราษฎร์ฯ กระบี่ และภูเก็ต

วันนี้ (16 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 17-18 ส.ค.นี้ กระทรวงกลาโหมจะเป็นเจ้าภาพเตรียมฝึกซ้อมแผนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกที่ 2 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) ร่วมกับหน่วยงานหลายแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ณ ห้องยุทธนาธิการ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม

นอกจากบุคลากรจากกองบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานกิจการพลเรือน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย กรมการแพทย์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ กระทรวงกลาโหม ที่เข้าฝึกซ้อม ยังมีบุคลากรจาก 22 หน่วยงาน เช่น ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคง (ศบม.) กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากกระทรวงการต่างประเทศ จากกรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง กองสาธารณสุข สำนักปลัด สธ. สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 4-6 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กทม. และศูนย์ปฏิบัตการฉุกเฉินจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ในบางพื้นที่ เป็นต้น

สำหรับการฝึกซ้อมดังกล่าวมีคำสั่งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด ประมาณ 8-10 คน เขาร่วมซึกซ้อม เช่น ฝึกซ้อมด้านการรับการสั่งการ การอำนวยการ การฝึกตามสถานการณ์พิเศษ การประเมินผล การประชาสัมพันธ์ ธุรการ ระบบไอที กรณีของ RFI (ระบบสั่งการทางวิทยุสื่อสาร รวมไปถึงการรบกวนของคลื่นวิทยุในหลาย ๆ ความถี่ และชั้นตอนการอำนวยความสะดวกของแต่ละหน่วยงาน

“กำหนดหัวข้อการฝึก ไว้ที่การตอบสนองต่อสถานการณ์ตามแผนของหน่วยงาน/จังหวัด การจัดสรรทรัพยากรในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การแบ่งมอบหน้าที่ตามความรับผิดชอบ และการร้องขอการสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติม”

กระทรวงกลาโหมยังมีแผน “ทดสอบระบบการฝึก” (Dry Run) ซักซ้อมความเข้าใจกับทีมบุคลากร ในศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มย่อย “Emergency Operation Center (EOC)” อย่างน้อย 8-10คน ในพื้นที่ กทม. ชลบุรี สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา รวมถึงจังหวัดที่ฝึกผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ตาก สระแก้ว ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต

ท้ายสุดผู้ฝึกทั้งหมดจะมีการสรุปผลการประชุมและทบทวนหลักการปฏิบัติ (After Action Review : AAR) เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 2

การฝึกรับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่ 2 คาดว่าจะเน้นการควบคุมกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดน การท่องเที่ยว ช่องทางเข้าออก และพื้นที่เฉพาะ


กำลังโหลดความคิดเห็น