นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชี้แจงกรณีผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ เดอะ รีพอตเตอร์ กรณีกรมประชาสัมพันธ์ไม่ทำบัตรสื่อมวลชนให้สื่อออนไลน์ ชี้ กรณีที่ระบุว่า สมาคมสื่อออนไลน์รับสมาชิกเฉพาะสื่่อเดิมนั้น ไม่เป็นความจริง ส่วนการออกบัตรนั้น เป็นเรื่องของกรมประชาสัมพันธ์ สมาคมฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
วันนี้ (15 ส.ค.) จากกรณีที่ น.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้สื่อข่าวรายการข่าวสามมิติ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เดอะ รีพอตเตอร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า นักข่าวที่ไปทำข่าวที่ สน.สำราญราษฎร์ และศาลอาญา วันนี้ และคาดว่า น่าจะเป็นกฏเข้มต่อไป ต้องมีบัตรของกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น สำหร้บสื่อหลักทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ ที่มาทำออนไลน์ สามารถทำบัตรกรมประชาฯ ได้ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีเพราะทางต้นสังกัด ไม่ได้ส่งชื่อทุกคน หรือบางคนหมดอายุแล้วต้องทำใหม่ แต่ที่จะทำงานยากคือสื่อออนไลน์ เพราะกรมประชาสัมพันธ์ไม่ทำให้ เนื่องจากต้องสังกัดสมาคมสื่อฯ ซึ่งสมาคมสื่อออนไลน์มีระเบียบ ที่จะรับสมาชิกเฉพาะสื่ออนไลน์ที่เป็นสื่อเดิม ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
อ่านประกอบ : “แยม ฐปนีย์” ร้องหา “บัตรกรมประชาสัมพันธ์” หลังสื่อออนไลน์เข้าไปทำข่าวไม่ได้
นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ โพสต์ข้อความชี้แจงว่า ขอใช้พื้นที่อธิบายการเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ปัจจุบันสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เริ่มต้นจากการเป็นชมรม และก่อตั้งเป็นสมาคมฯ เป็นระยะเวลารวม 12 ปี โดยหลักเกณฑ์ในการทำงาน คือ การกำกับดูแลและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตข่าวออนไลน์ในประเทศไทย ภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพ ปัจจุบันมีสมาชิกในรูปแบบองค์กรสื่อรวมแล้ว 40 รายทั่วประเทศ
คำว่า “ผู้ผลิตข่าว” จึงอยู่ในหลักการที่สมาชิกสามัญต้องเป็นองค์กรที่มีช่องทางหลักเป็นเว็บไซต์ ที่จดทะเบียนในนามองค์กรแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือนขึ้นไป มีระบบบรรณาธิการภายในองค์กรชัดเจน มีการผลิตงานไม่ต่ำกว่าวันละ 50 ชิ้น ในปี 2562 สมาคมฯ มีความเข้าใจดียิ่งเกี่ยวกับการปรับตัวของสื่อออนไลน์ที่ไม่ได้ยึดโยงกับสื่อเก่าอย่างทีวี หนังสือพิมพ์อีกแล้ว เราจึงมีการปรับลดกฏเกณฑ์ให้มี “สมาชิกวิสามัญ” มาร่วมกับสมาคมได้
สมาชิกวิสามัญสื่อออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขครบตามที่บอก แต่อย่างหนึ่งที่สำคัญและขอให้มีความชัดเจนยิ่ง คือ ต้องมีเว็บไซต์ที่จดทะเบียนกว่า 6 เดือน และต้องมีระบบบรรณาธิการชัดเจน
เพราะการมีเว็บไซต์ในนามองค์กร จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้มาก เนื่องจากไม่สามารถไว้วางใจแพลตฟอร์มได้ เพราะไม่รู้วันไหนเขาจะปิดเพจสื่อเรา วันไหนจะลดการมองเห็น หรือปิดกั้นคอนเทนต์ดีๆ ออกไป แต่เว็บไซต์การจะย้าย จะปิด หรือตรวจสอบมันก็ยังง่ายกว่า สาระสำคัญจึงอยู่ตรงนี้ เพราะเราเข้าใจว่าปัจจุบันโลกดิจิทัลเปลี่ยนไปมาก คำว่า “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้าง แต่ด้วยหลักความเป็น “สื่อมวลชน” ที่สมาคมต้องยึดโยงภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพ การมีหลักเกณฑ์จึงต้องให้ความสำคัญ
กรณีการที่กรมประชาสัมพันธ์จะออกบัตรสำหรับสื่อออนไลน์นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับสมาคมฯ เพราะเราเข้าใจว่ามีสื่อออนไลน์อีกมากที่มีความรู้ความสามารถในการนำเสนอข่าวโดยมิได้เป็นสมาชิก ดังนั้น การออกบัตรสื่อมวลชนจึงเป็น “การพิจารณาของกรมประชาสัมพันธ์โดยตรง” และได้มีการหารือเมื่อเดือนที่แล้วว่า ทางสมาคมฯ เองไม่มีนโยบายปิดกั้นเรื่องดังกล่าว โดยย้ำว่าให้กรมประชาสัมพันธ์พิจารณาเองเท่านั้น สมาคมฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกบัตร
และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 ส.ค.) สมาคมสื่อรวมถึงสื่อออนไลน์ ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก ก็ได้หารือกันถึงสถานการณ์ปัจจุบันเช่นกัน โดยเฉพาะการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารเป็นนโยบายโดยตรงของแต่ละสื่อ ซึ่งสมาคมก็ไม่ได้มีอำนาจในการเข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด และก็ไม่มีใครแทรกแซงการนำเสนอข่าวผ่านสมาคมเช่นกัน สมาคมยินดีเปิดรับสมาชิกทั้งแบบสามัญและวิสามัญ โดยต้องเป็นสมาชิกในนามองค์กรสื่อเท่านั้น เนื่องจากเราเป็นสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์