ผบ.ทอ.เผย ทอ.รับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่โดยตลอด ปลูกฝังใช้ปัญญาไทย ชูสถาบันฯ เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ชี้ต้นทุนไม่เท่ากันแต่ต้องเคารพเห็นต่าง โยนแก้ รธน.เรื่องรัฐบาล-การเมือง
วันนี้ (6 ส.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) ดอนเมือง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคนรุ่นใหม่เป็นนิสิต นักศึกษาว่า ในส่วนของกองทัพอากาศเราทำมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงต่อกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง โดยการสร้างความเข้าใจในบริบทของกำลังพลในแต่ละช่วงอายุ พร้อมทั้งเคารพในความคิดเห็นและให้โอกาสในการแสดงฝีมือเนื่องจากเราต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังพลของกองทัพอากาศไปตลอดเพราะบริบทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาคนรุ่นเก่าอย่างเราตามไม่ทัน อย่างเทคโนโลยีสมัยใหม่เราก็จะปล่อยให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ เพราะเขาจะรับรู้และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะในโลกดิจิทัล
นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังปลูกฝังคนรุ่นใหม่ทั้งในเรื่องของความเป็นทหาร วัฒนธรรม และความเป็นคนไทยซึ่งถือว่าก็มีความสำคัญซึ่งขณะนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะให้เขาริเริ่มในการใช้ปัญญาไทย เพราะต่อไปในอนาคตการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะไม่ซื้อแบบสำเร็จ แต่จะซื้อแบบที่ต้องใส่ปัญญาไทยอย่างน้อย 50% ลงไป ซึ่งตนก็ได้ทำเป็นแบบอย่างมาแล้ว 1 ปีเต็ม และก็จะทำไปจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ
ส่วนการปลูกฝังเรื่องสถาบันฯ นั้น ประเทศไทยอยู่ได้ด้วยสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นเอกลักษณ์และเป็นสัญลักษณ์เดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร และเราก็อยู่ดีมีสุขด้วยบริบทตรงนี้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอาจจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากในสังคมมีความหลากหลาย ต้นทุนของแต่ละคนไม่เท่ากัน วิธีคิดจึงไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นความเห็นต่าง แต่เราต้องเคารพในความเห็นต่าง แต่โดยพื้นฐานแล้วก็ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ เชื่อว่าสิ่งตรงนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาและความขัดแย้งแน่นอน เพียงแต่เราจะต้องหาเวทีคุยในบริบทเดียวกันที่จะต้องพาชาติบ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร
หากเปรียบเทียบก็ให้ดูสงครามโลกระบาด covid-19 ในปัจจุบันที่ล้อมกรอบประเทศไทยเอาไว้ทั้งหมด แต่เราก็อยู่กันได้ด้วยความสงบ แม้อาจจะมีความลำบากอยู่บ้าง ถือว่าโควิดเป็นกระจกส่องหน้าที่ดีที่สุดเราได้เห็นต้นทุนของประเทศไทยว่ามีเหลือเท่าไหร่ในยามที่เกิดสงคราม สะท้อนให้เห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้สร้างต้นทุนตรงนี้จึงเกิดความขาดแคลน หากเป็นสงครามรบขนาดใหญ่เราจะไม่มีอะไรเหลือเลย
ผู้บัญชาการทหารอากาศกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตนมีหน้าที่พิจารณาบางญัตติในสภาเท่านั้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลและการเมือง
เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองให้แก้ไขบางมาตราโดยเฉพาะไม่ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.มนัสกล่าวว่า ผบ.ทอ.อยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติ ไม่ได้มีหน้าที่ไปเลือกหรือกำหนดว่าใครจะเป็นหรือไม่เป็น ถ้ากำหนดให้เราเป็น เราก็ต้องทำตามหน้าที่