xs
xsm
sm
md
lg

รัฐสภารับหลักการ ตั้ง สนง.นโยบายที่ดินแห่งชาติ “เกียรติ” จี้ยุติทุกคดี ปชช.ที่ทับซ้อน ส.ป.ก.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
สมาชิกรัฐสภา 564 เสียง รับหลักการร่างแก้ไข กม.ปรับปรุงกระทรวง ตั้ง สนง.นโยบายที่ดินแห่งชาติ สมาชิกเสนอทางออกยุติการดำเนินคดี ปชช. ถอนฟ้องทุกคดีที่ทับซ้อน ส.ป.ก. ย้ำ ไม่ติดใจ สนง.ขึ้นตรงกับนายกฯ หากทำในสิ่งที่ถูกต้อง

วันนี้ (4 ส.ค.) นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภาอภิปรายในวาระรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... โดยระบุว่า เข้าใจดีว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาตินั้น ตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการแก้ปัญหาที่ดินให้ประชาชน

นายเกียรติ กล่าวถึงปัญหาที่ทำกินของประชาชนที่เกิดขึ้นโดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ปัญหาแรกชุมชนทำกินในที่ดินมาก่อนแต่เมื่อรัฐไปขีดเส้นแนวเขต ประชาชนจึงกลายเป็นคนผิดถูกดำเนินคดีอาญา ประเภทที่ 2 ปัญหาที่เกิดการทำงานที่ไม่สอดคล้องกันของหน่วยงานรัฐ คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่พบว่า กฎหมาย ส.ป.ก.เขียนไว้ชัดตั้งแต่ปี 2518 ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้นแล้วให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม โดยไม่ต้องเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ แต่ทางด้านกรมอุทยานฯ กลับยังใช้แผนที่เดิมตั้งแต่ปี 2524 ไม่ได้มีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ ส.ป.ก. ปรับปรุงแล้ว ผลที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ถูกดำเนินคดีอาญา และปัญหาประเภทสุดท้ายคือการบุกรุกเชิงพาณิชย์ ที่แก้ไขได้อยู่แล้วด้วยการบังคับใช้กฎหมาย จึงไม่น่าห่วง

นายเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินรัฐทับซ้อนที่ทำกินประชาชนและปัญหาการทำงานที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงาน สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องมีสำนักงานใหม่เพราะกฎหมายมีชัดอยู่แล้ว พร้อมยกตัวอย่าง กรณีแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2543 ที่ไม่ทันออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล และต่อมาได้มีการตั้งกรมอุทยานฯขึ้นเมื่อปี 2545 ทั้งนี้ พบว่า เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ต่อมาได้ทำการสำรวจพื้นที่และมีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงแนวเขตอุทยานทับลานและดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานทับลานโดยให้ยึดถือแนวเขตปี 2543 ที่เคยสำรวจไว้แล้ว โดยไม่ต้องมีสำนักงานและพนักงานใหม่ซึ่งหากดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้นก็เป็นที่เรียบร้อย แต่กลับพบว่า เมื่อปี 2562 มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้สำรวจและให้เช่าได้สำหรับผู้ที่บุกรุกแต่กรมอุทยานฯ กลับยังใช้แผนที่เก่า ไม่ได้มีการปรับปรุงแผนที่แนวเขตใหม่ตามกฎหมาย ส.ป.ก. แต่อย่างใด ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ เฉพาะชาวบ้านที่ทับลานถูกดำเนินคดี 400 ครัวเรือน ทั้งประเทศปีละประมาณ 2,000 คดี รวมถูกดำเนินคดี 2 หมื่นกว่าคดีอย่างไม่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อนถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งที่ถือครองที่ดินที่มีการสำรวจโดย ส.ป.ก. และมีเอกสารสิทธิชัดเจน พร้อมเสนอ 3 ทางออก เกี่ยวกับปัญหาที่ทำกินของประชาชน คือ 1. ตราพระราชกฤษฎีกา ในแนวเขตอุทยานทับลานปี 2543 ให้เร็วที่สุด 2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนทันทีถอนฟ้องทุกคดีที่ทับซ้อนกับ ส.ป.ก. ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ถึงร้อยละ 80-90 ของปัญหา และ 3. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งสำรวจพื้นที่ที่เหลือ เพราะเชื่อว่ายังมีประเด็นทับซ้อนอยู่มากพอสมควรในหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า ไม่ติดใจกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีหากทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมได้ลงมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 564 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 51 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 49 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น