xs
xsm
sm
md
lg

“เผ่าภูมิ” กระตุ้นแบงก์รัฐปล่อยกู้ อุดช่องแบงก์พาณิชย์ไม่พร้อมเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เผ่าภูมิ โรจนสกุล
“เผ่าภูมิ” กระตุ้นแบงก์รัฐ ยกระดับบทบาทสินเชื่อช่วงโควิด อุดช่องแบงก์พาณิชย์ไม่พร้อมเสี่ยง ระบุต้องยอมมีหนี้เสียบ้าง ดีกว่ากอดเงินแล้วธุรกิจค่อยๆ ตาย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการทางการเงินที่ใช้รับมือโควิด-19 ว่า สถานการณ์เช่นนี้ควรแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือป้องกันภาวะตกใจเกินจริงของตลาดเงิน ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ เพื่อให้ระบบการเงินสามารถทำงานเป็นแหล่งทุนต่อไปได้ในสภาวะที่ประชาชนอยากถือเงินสด ช่วงที่สองคือการกระจายสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจริง ให้เพียงพอให้ธุรกิจอยู่รอด

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ในส่วนที่ 2 กำลังมีปัญหามาก สภาพคล่องที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้เพียงพอ แต่ปัญหาคือมันไม่ได้ถูกจัดสรรไปที่ภาคเศรษฐกิจจริงตามต้องการ ภาวะสภาพคล่องที่ล้นตลาดนี้ไปหมกอยู่ที่ตลาดหุ้น และไปหมกอยู่ที่เงินฝากจนล้นธนาคาร แต่เป็นประชาชนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบหาบเร่แผงลอย ร้านอาหารริมทาง ฯลฯ คนเหล่านี้กลับอยู่ในภาวะตะเกียกตะกายวิ่งหาสภาพคล่อง แต่เข้าไม่ถึง

“Softloan ในระดับหลักการนั้นดี แต่ความสำเร็จของมันอยู่ที่ความใส่ใจในรายละเอียดว่าจะผลักสภาพคล่องลงสู่ส่วนที่มีปัญหาจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่อนุมัติกรอบวงเงิน ตัวชี้วัดของธนาคารพาณิชย์ คือ กำไรสูง NPL ต่ำ ความเสี่ยงต่ำ ผลคือ ธุรกิจความเสี่ยงสูงจากโควิด ขาดสภาพคล่อง แต่โดนปฏิเสธ ผมเห็นความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทยในการกระตุ้นธนาคารพาณิชย์ให้ปล่อยกู้ แต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล” นายเผ่าภูมิ ระบุ

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีอีกหนึ่งเครื่องมือหนึ่งที่มีพลัง แต่ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก คือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFIs ที่ทำหน้าที่เสมือนธนาคารพาณิชย์ แต่มีภารกิจเพื่อตอบสนองมาตรการของรัฐ แม้จะต้องขาดทุน ซึ่งสิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำขณะนี้คือ จัดสรรสภาพคล่องไปถึงมือคนเดือดร้อนจริงให้ได้ ผมมองว่าเมื่อธนาคารพาณิชย์ไม่พร้อมเสี่ยง แบงค์รัฐจึงต้องเข้าสอดรับบทบาทตรงนี้ ยกระดับการช่วยเหลือประชาชน กล้าได้กล้าเสียกล้าเสี่ยง มากขึ้น พึงระลึกไว้ว่าตัวชี้วัดของแบงก์รัฐไม่ใช่กำไร ไม่ใช่ NPLต่ำๆ ไม่ใช่ BIS Ratio สูงๆ แต่หากเป็นประสิทธิภาพในการตอบสนองรัฐและอุดช่องว่าง สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ทำไม่ได้ หรือไม่อยากทำนั่นเอง

“ผมมองว่า เสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียบ้างในภาวะแบบนี้ ย่อมดีกว่ากอดเงินเอาไว้ แล้วปล่อยให้ธุรกิจค่อยๆ ตายลง” นายเผ่าภูมิ ระบุ.


กำลังโหลดความคิดเห็น