“ไผ่ ดาวดิน” พร้อมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ยื่นคำร้องศาลขอนแก่น ปล่อยตัว “ทิวากร” จาก รพ.จิตเวช ระบุถูกพาตัวไปโดยไม่ยินยอมหลังใส่เสื้อ “หมดศรัทธาสถาบัน” รับร้องแทนแม่ที่เห็นด้วยกับ จนท. และได้ตัดแม่ตัดลูกกันแล้ว
วันนี้ (22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีที่นายทิวากร วิถีตน ผู้ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถูกควบคุมตัวไป รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2563 โดยตัวเขาไม่ได้ยินยอม และถูกควบคุมตัวอยู่ในโรงพยาบาลรวม 13 วัน แล้ว โดยเพื่อนหรือคนรู้จักไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ซึ่งแพทย์อ้างเป็นความประสงค์ของญาตินั้น
เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) เวลา 11.30 น. นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เลขาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นขอให้ปล่อยตัวนายทิวากรจากการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเป็นกรณีซึ่งผู้ร้องเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติใช้สิทธิในฐานะบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ยื่นคำร้อง
ต่อมา เวลา 14.00 น. ศาลนัดไต่สวนพยาน โดยทนายความของผู้ร้องได้อ้างพยานบุคคลเข้าเบิกความรวม 2 ปาก คือนายจตุภัทร์ ผู้ร้อง และนายศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท หลังเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 22 ก.ค. 2563 เวลา 14.00 น.
ในการไต่สวนพยาน ทั้งสองเบิกความสอดคล้องกันว่า เป็นเพื่อนกับทิวากรทางเฟซบุ๊ก และได้เคยพบปะพูดคุยกับทิวากร เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังเขาโพสต์รูปตนเองใส่เสื้อดังกล่าว และโพสต์ว่ามีเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้าน
พยานทั้งสองเบิกความยืนยันว่า จากการที่ได้พูดคุยกับทิวากร ซึ่งเขาเล่าถึงการมาพบของเจ้าหน้าที่และให้เขาหยุดใส่เสื้อ, แนวคิดทางการเมือง และการเตรียมการเพื่อไม่ให้ครอบครัวได้รับผลกระทบจากการใส่เสื้อดังกล่าวของเขา รวมถึงจากการติดตามการสื่อสารทางเฟซบุ๊ก พยานเห็นว่านายทิวากรมีสติสัมปชัญญะ และมีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง
นายจตุภัทร์ยังเบิกความว่า จากการติดตามเฟซบุ๊กของนายทิวากรโพสต์ว่ามีเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้านหลายครั้งจนครอบครัวมีความกังวล และแม่ขอให้เขาหยุดเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ ต่อมาวันที่ 5 ก.ค. 2563 นายทิวากรได้โพสต์ภาพหนังสือที่แม่เซ็นตัดขาดความเป็นแม่ลูก และตัดเขาออกจากตระกูล รวมทั้งโพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือให้คนในฝ่ายประชาธิปไตยจัดการศพให้ โดยไม่อนุญาตให้คนในครอบครัวมาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งวันที่ 9 ก.ค. 2563 นายทิวากรโพสต์เรื่อง มีเจ้าหน้าที่จิตแพทย์ และ กอ.รมน.มาพบ โดยเขาระบุว่า “ผมเข้าใจดีว่านี่คือการเมือง ที่ต้องการจะทำให้คนเข้าใจว่าผมเป็นบ้า ผมจะไม่ตำหนิเจ้าหน้าที่ถ้าหากมีคำวินิจฉัยว่าผมเป็นบ้า เพราะถือว่าต้องทำตามคำสั่ง”
นายจตุภัทร์ยืนยันเช่นเดียวกับศรายุธว่า จากการพูดคุยกับทิวากรและติดตามทางเฟซบุ๊กที่เขาโพสต์เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่มาหาก่อนหน้าที่เขาจะถูกควบคุมตัวส่ง รพ.จิตเวช เจ้าหน้าที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตของเขา มีแต่ให้หยุดใส่เสื้อ และหยุดโพสต์เฟซบุ๊ก ดังนั้น พยานจึงเห็นว่า การนำตัวทิวากรไป รพ.จิตเวช ไม่ใช่เพราะเขามีอาการทางจิต แต่เป็นเพราะเขาใส่เสื้อดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ซึ่งมาพบหลายครั้งไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนความคิดและยุติการใส่เสื้อตัวดังกล่าวได้ รวมทั้งความขัดแย้งของเขากับครอบครัวที่กังวลเรื่องความปลอดภัย
นายศรายุธซึ่งได้เข้าเยี่ยมทิวากรที่ รพ.จิตเวช ในวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เบิกความว่าจากการพูดคุยกับแม่และนายทิวากรถึงเหตุการณ์ในวันที่เจ้าหน้าที่ไปควบคุมตัวเขาที่บ้าน ทั้งสองระบุตรงกันว่า เมื่อแพทย์ไปพบและให้เขามารักษาตัวที่ รพ.จิตเวช โดยอ้างว่าเขามีอาการทางจิต ตัวนายทิวากรเองไม่ได้ยินยอมจะเข้ารับการรักษา เนื่องจากเขาไม่ได้เป็นอะไร ทำให้เจ้าหน้าที่ 6 คน อุ้มเขาขึ้นรถพยาบาล จากนั้นจึงมัดมือเขาด้วยผ้า และฉีดยาเข้าที่ต้นแขน 2 ข้าง จนเขามีอาการชา และหากใช้ความคิดจะเจ็บเหมือนหัวใจถูกบีบ
นายศรายุธยังเบิกความอีกว่า การเข้าเยี่ยมในวันดังกล่าวพบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยเฝ้านายทิวากร และคอยสอดส่องผู้มาเยี่ยม รวมทั้งขอบัตรประชาชนไปตรวจสอบและจดบันทึกข้อมูลด้วย แต่ไม่ปรากฏว่า ทางโรงพยาบาลมีการห้ามบุคคลอื่นเข้าเยี่ยม แต่ต่อมาวันที่ 17 ก.ค. 2563 เมื่อเขาไปขอเยี่ยมอีกครั้ง ทางโรงพยาบาลไม่ให้เข้าเยี่ยมโดยอ้างว่า ญาติสั่งไว้ และรอง ผอ.รพ.จิตเวช ซึ่งมาพูดคุยไม่ตอบคำถามว่า กระบวนการควบคุมตัวนายทิวากรมารักษาใช้อำนาจตามกฎหมายหรือระเบียบใด อีกทั้งตลอดเวลาที่พูดคุยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอ
นายศรายุธได้ทราบจากแม่ของทิวากรด้วยว่า ภายหลังจากควบคุมตัวทิวากรไป รพ.จิตเวชแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นบ้านที่ทิวากรพักอาศัย และยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และเสื้อของเขาไป
นายจตุภัทร์ได้เบิกความถึงเหตุที่เข้ายื่นคำร้องในครั้งนี้ว่า เนื่องจากตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ การรักษาทางการแพทย์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่เข้ารับการรักษาเอง แต่กรณีนายทิวากรเห็นได้ชัดว่า เขาไม่ได้ยินยอม ตนเองจึงเห็นว่าเป็นการควบคุมตัวมิชอบ โดยเป็นการใช้ข้ออ้างทางการแพทย์มาจำกัดคนที่คิดต่างไปจากรัฐ
ศาลถามนายจตุภัทร์ว่า ทำไมไม่ให้แม่หรือครอบครัวมายื่นเอง นายจตุภัทร์ตอบว่า เนื่องจากแม่เป็นผู้ยินยอมให้แพทย์นำตัวมา รพ.จิตเวช และมีแนวโน้มว่า แม่จะเห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่ในการให้นายทิวากรอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากเกรงว่าหากอยู่ที่บ้านเขาจะถูกอุ้มหรือถูกดำเนินคดี
ทั้งนี้ คำร้องขอให้ปล่อยตัวนายทิวากรที่ยื่นต่อศาล มีเนื้อหาสอดคล้องกับคำเบิกความพยาน โดยระบุด้วยว่า การควบคุมตัวนายทิวากร วิถีตน เป็นการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. กรณีปัญหาที่เจ้าหน้าที่ติดตามนายทิวากรเป็นกรณีเรื่องใส่เสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไม่ใช่เพราะเหตุความเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาในภายหลัง ทั้งนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า ข้อความบนเสื้อยืดนั้นไม่ใช่ข้อความที่ผิดต่อกฎหมาย เพราะความศรัทธาต่อบุคคลหรือสถาบันใดนั้น ไม่ใช่ดินแดนที่กฎหมายจะเข้าไปบังคับได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่อาจดำเนินคดีนายทิวากร และใช้ช่องทางทางการแพทย์เพื่อควบคุมเขาแทน ทำให้ทิวากรปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกอีกต่อไป การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2. พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 ระบุหลักการว่า การบำบัดรักษาจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย เว้นแต่เป็นกรณีมีภาวะอันตราย หรือมีความจำเป็นในการบำบัดรักษา หรือผู้ป่วยขาดความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่กรณีนายทิวากรซึ่งสามารถสื่อสารพูดคุยอย่างมีสติสัมปชัญญะ และมีความสามารถในการตัดสินใจเองได้ ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา จึงต้องอาศัย “ความยินยอมของบุคคลดังกล่าวเอง” ไม่ใช่ความยินยอมของญาติหรือบุคคลอื่น อีกทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวนายทิวากรมายังโรงพยาบาล ได้มีตำรวจสับเปลี่ยนกำลังมาเฝ้าตลอดเวลา จึงไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นกระบวนการรักษาปกติโดยอาศัยความยินยอมของนายทิวากร
นอกจากนี้ หากกระบวนการดังกล่าวเป็นไปเพื่อการบำบัดรักษาจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เหตุจำเป็นต้องยึดโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ของนายทิวากรไป เพราะไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการบำบัดรักษา การเข้าไปค้นและยึดสิ่งของโดยปราศจากหมาย รวมถึงการควบคุมตัวโดยการอ้างเหตุความยินยอมของญาติเป็นการใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ อย่างบิดเบือน และถือเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำร้องระบุอีกว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการใช้อำนาจเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดการนำเหตุทางการแพทย์มาใช้เพื่อควบคุมตัวบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ศาลมีอำนาจที่จะตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในควบคุมตัวบุคคลไปบำบัดรักษาว่ามีความจำเป็นอย่างไร เป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 หรือไม่
คำร้องยังอ้างอิงด้วยว่า การร้องขอให้ปล่อยตัวบุคคลจากการคุมขังอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 นั้น มีที่มาจากหลัก Habeas Corpus ที่เป็นหลักกฎหมายสำคัญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อประกันว่าบุคคลจะไม่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยให้ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกผู้คุมขังให้นำตัวบุคคลที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาปรากฏต่อหน้าศาล หากเห็นว่าเป็นการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็จะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวไป หลักดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรัฐไทยก็ได้เข้าเป็นภาคี จึงมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้เรื่อยมา จนกระทั่งฉบับปัจจุบัน
ท้ายคำร้องระบุว่า องค์กรตุลาการมีหน้าที่จะต้องผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม พิพักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งโดยเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจจากเจ้าหน้าที่รัฐและคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดกับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งอาจทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และจิตใจจนไม่อาจจะเยียวยาได้ ผู้ร้องจึงขอให้ศาลเรียกเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัว คือ ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และหรือตัวแทนคณะแพทย์เจ้าของไข้นายทิวากร วิถีตน, นักจิตวิทยาซึ่งร่วมวินิจฉัยอาการ, ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น และผู้กำกับการ สภ.ท่าพระ รวมทั้งให้นำตัวนายทิวากรมาปรากฏตัวต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวทันที เพื่อเป็นการวางบรรทัดฐานในการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม