ศาลปค.สูงสุดไม่รับคำฟ้องรื้อคดีเตรียมจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ ชี้ข้ออ้างแย้งดุลนิจ ไม่ใช่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงพลาด ชี้อ้างบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ปล่อยจนลงนามอ้างไม่รู้ไม่ได้ แถมคมนาคมไม่เคยยกขึ้นมาสู้ ไม่ถือเป็นหลักฐานใหม่
วันนี้ (22 ก.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ยื่นขอให้รื้อคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมและรฟท.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ทั้งสองหน่วยงาน ต้องคืนเงินค่าตอบแทนที่ที่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด ชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการพร้อมดอกเบี้ยราว 2.4หมื่นล้านบาทให้กับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด
โดยศาลปกครองสูงสุดระบุเหตุผลว่า ที่กระทรวงคมนาคมและรฟท. อ้างว่า ศาลปกครองสูงสูดฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนในประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทและการกำหนดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนั้น เห็นว่า การกำหนดประเด็นแห่งคดีและปัญหาทั้งหลายที่ต้องวินิจฉัย ตลอดจนการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามที่อ้างนั้นล้วนแต่เป็นการใช้ดุลยพินิจของศาลในการกำหนดประเด็นแห่งคดีและวินิจฉัยปัญหา ตามรูปเรื่องข้อเท็จจริงแห่งคดี ข้ออ้างดังกล่าวจึงมีลักษณะโต้แย้งดุลยพินิจในการพิจารณาพิพากษาของศาล แม้จะเป็นการแตกต่างไปจากความเห็นของผู้ร้องทั้งสอง แต่ก็ไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด หรือทำการให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีกลายเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่มีข้อบกพร่องสำคัญที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
ส่วนที่อ้างว่าการที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ย้อนสำนวนให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดีถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในการกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรมนั้น เห็นว่า ที่กำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นโดยศาลปกครองสูงสุดไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดที่ให้ศาลปกครองสูงสุดต้องมีคำสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ทุกกรณี แต่ให้เป็นดุลพินิจของศาลปกครองสูงสุดตามที่เห็นว่ามีเหตุสมควรเท่านั้น จึงจะให้ส่งสำนวนคืนไปที่ศาลปกครองชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่
เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่อ.221-223/2562 ศาลเห็นว่า ก่อนที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา ได้ดำเนินการในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยคู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริงและชี้แจงโต้แย้งแล้ว คดีจึงมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาพิพากษาหรือชี้ขาดคดีต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ดุลยพินิจเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่จะส่งสำนวนคดีคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้น ดังนั้นการที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ส่งสำนวนคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นเพื่อให้พิจารณาประเด็นแห่งคดีใหม่ จึงไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่จะถือว่าเป็นข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
สำหรับประเด็นที่อ้างว่า พบพยานหลักฐานใหม่ว่าบริษัทโฮปเวลล์ในขณะเข้าทำสัญญาเป็นการดำเนินการของบุคคลต่างด้าวที่ฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พ.ย.2515 เห็นว่า ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทโฮปเวลล์ตามหนังสือรับรองจดทะเบียนนิติบุคคลหรือการเข้าประกอบกิจการก่อนที่จะได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าในขณะนั้น จะเป็นจริงดังที่อ้างหรือไม่ก็ตาม แต่โดยข้อเท็จจริงความสามารถของบริษัทโฮปเวลล์ฯเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ตั้งแต่ขณะเข้าทำสัญญา ซึ่งหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นเอกสารที่ทุกคนสามารถเข้าขอตรวจสอบจากราชการได้ และหนังสือดังกล่าวก็ต้องยื่นประกอบการลงนามในสัญญา
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมฯได้บรรยายฟ้องว่า คณะกรรมการรฟท.มีมติให้รฟท.มีอำนาจลงนามในสัญญาร่วมกับกระทรวงคมนาคมและให้บริษัทโอปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) มีอำนาจเข้าดำเนินการก่อสร้าง พัฒนาที่ดินของรฟท. ซึ่งบริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง)ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัทโฮปเวลล์ ( ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นตามกฎหมายไทย กรณีดังกล่าวบ่งชี้ว่ากระทรวงคมนาคมฯทราบดีว่าบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีบริษัทแม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศ
“ข้อโต้แย้งเรื่องความสามารถของบริษัทโฮปเวลล์ขณะเข้าสัญญาซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะปฏิวัติฯรมว.คมนาคมซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญา เป็นบุคคลที่อยู่ร่วมในครม. ย่อมต้องรู้ว่าบริษัทโฮปเวลล์ฯได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากครม. อีกทั้งกระทรวงคมนาคมฯยอมรับในคำขอพิจารณาคดีใหม่ว่าบริษัทโฮปเวลล์ ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนให้ประกอบธุรกิจประเภทที่กำหนดไว้ในบัญชี ค.ท้ายประกาศคณะปฏิวัติฯ และกรณีนิติบุคคลต่างด้าวจะประกอบกิจการตามที่ลงนามในสัญญาจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมทะเบียนการค้าก่อน จึงเป็นข้อบัญญัติกฎหมายที่กระทรวงคมนาคมฯ จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้ แต่ควรต้องตรวจสอบเรื่องความสามารถของคู่สัญญาก่อนลงนาม อีกทั้งร่างสัญญาจะต้องผ่านการตรวจจากกรมอัยการขณะนั้นก่อนลงนาม การที่กระทรวงคมนาคมและรฟท.ไม่ตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและไม่เคยยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้มาก่อนทั้งในชั้นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและในชั้นศาลปกครองเลย จึงเป็นความบกพร่องของกระทรวงคมนาคมและรฟท.เอง จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองไม่ทราบถึงความมีอยู่ของพยานหลักฐานนั้นในการพิจารณาคดีครั้งที่แล้วมาโดยมิใช่ความผิดของกระทรวงคมนาคมและรฟท. ดังนั้นเอกสารที่ทั้งสองกล่าวอ้างจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ ที่จะทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ”
และที่อ้างว่าศาลปกครองชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น เห็นว่า คำขอพิจารณาคดีใหม่เป็นคำฟ้องตามนัยมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 แต่โดยกฎหมาย ไม่ได้กำหนดว่าการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ต้องยื่นศาลปกครองใด จึงต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณคดีปกครองตามนัยข้อ 5 วรรคสอง แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543 ดังนั้นคำขอพิจารณาคดีใหม่ในคดนี้จึงอยู่ในอำนาจจองศาลปกครองชั้นต้น