xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา ศก.แก้โควิด รบ.แนะใช้เคสทหารอียิปต์เรียนรู้ขั้นตอน “เปิดประเทศ” เพิ่มศักยภาพติดตาม ตรวจเชื้อ กักกัน ใช้คุมระดับติดเชื้อในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ปรึกษาแก้ผลกระทบ ศก.โควิดรัฐบาล ยกเคสทหารอียิปต์-ลูกทูต แนะรัฐบาล สธ. หน่วยเกี่ยวข้องเพิ่มศักยภาพ “ระบบติดตาม ตรวจเชื้อ กักกัน” ให้มากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว ชี้ชั้นต้นอาจวางแผน “เปิดประเทศ” ในระดับที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในประเทศ ที่ไม่ใช่เฉพาะ state quarantine ให้อยู่ในระดับ 20-30 คนต่อวัน เชื่อศักยภาพที่เพิ่มขึ้น จะรองรับและขยับการเปิดประเทศให้กว้างขึ้นได้

วันนี้ (15 ก.ค.) นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ และที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กาส่วนตัวกรณีทหารอียิปต์และคณะบุคคลในครอบครัวนักการทูตจากประเทศซูดาน ติดเชื้อโควิด-19 และไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด อีกครั้งหลังจากวานนี้ (14 ก.ค.) เพิ่งเรียกร้องให้ ศบค.ต้องทบทวนกติกาและกำหนดมาตรการใหม่ให้รัดกุมมากขึ้น และมีบทลงโทษที่ชัดเจน

โดยระบุว่า “ผมไม่คิดว่าเราควรมองปรากฏการณ์ทหารอียิปต์ และเด็กหญิงลูกทูตว่าเป็นเรื่องเลวร้าย และต้องหาคนผิดให้ได้ จริงๆ แล้วเราสามารถมองว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เริ่มเรียนรู้กับการอยู่กับโควิดแบบไม่ใช่ zero case ซึ่งมีต้นทุนมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจ (อย่างน้อยต่อระบบเศรษฐกิจส่วนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนสูงมากถึงกว่า 20% ของ GDP)

แน่นอนว่ามาตรการคัดกรองและหลักปฏิบัติของคนเข้าประเทศจะต้องรัดกุมขึ้น ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น แต่ต้องยอมรับความจริงว่าไม่ว่าจะรัดกุมแค่ไหน หากมีคนเข้ามามากขึ้นก็จะมีผู้ติดเชื้อ 'หลุด' เข้ามาอยู่ดี โดยเขาก็อาจไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อด้วยซ้ำ

สิ่งที่รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องควรทำ คือ เพิ่มศักยภาพของระบบการติดตาม ตรวจเชื้อ กักกัน (Trace, Test, Isolate หรือ TTI) และศักยภาพการรักษา ให้มากกว่าปัจจุบันอีกหลายเท่า เพราะนั่นหมายถึงเราจะเปิดประเทศได้มากขึ้น และด้วยต้นทุนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้คืนมา

โดยในชั้นต้นเราอาจวางแผนว่าจะเปิดประเทศในระดับที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ “ในประเทศ” (ไม่ใช่ใน state quarantine) อยู่ในระดับ 20-30 คนต่อวัน เพราะเป็นระดับที่ TTI ปัจจุบันรองรับได้ และขยับการเปิดให้กว้างขึ้นตามศักยภาพ TTI ที่มากขึ้น”

เมื่อวานนี้ ที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่งเรียกร้อง ให้ ศบค.ต้องทบทวนกติกาและกำหนดมาตรการใหม่ให้รัดกุมมากขึ้น และมีบทลงโทษที่ชัดเจน กรณีดังกล่าวส่งผลให้แนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel Bubble) ที่เดิมกำหนดดำเนินการวันที่ 1 สิงหาคมนี้ อาจจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าประชาชนจะเกิดความมั่นใจกับมาตรการใหม่ที่จะออกมาพิสูจน์ความเชื่อมั่น พร้อมมองว่ากรณีดังกล่าวอาจจะทำให้มีการล็อกดาวน์เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น และคนไทยยังต้องหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไป เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังถือว่าปลอดภัยอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น