“สิระ” ควง “โรม” ล่องใต้ ทวงป่าจากนายทุนและข้าราชการทุจริต ยืนยันทำงานร่วมกันได้เพราะการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนถือเป็นหน้าที่ ส.ส. ต้องไม่แบ่งฝ่าย
วันนี้ (10 ก.ค.) นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 วันนี้ตนและนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต และพังงา เพื่อหาข้อมูลกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบุกรุกที่ดินทำกิน โดยการข่มขู่คุกคามจากบริษัทเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา รวมถึงตรวจเยี่ยมหน่วยงานราชการ และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งในวันนี้ตนยังรับร้องเรียนความเดือดร้อนอื่นๆ เช่น เวลาการเปิด-ปิดสถานบริการที่ป่าตอง โดยมีการร่วมประชุมหารือแนวทางระหว่างคณะกรรมการฯ และนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ใช้สิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่
นายสิระกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้รับหนังสือเรื่องความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ จ.ภูเก็ต กรณีการก่อสร้างอาคารโครงการห้องชุด เดอะ พีค เรสซิเดนซ์ จ.ภูเก็ต ที่ ภก 0017.1/18941 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2562 เรื่องการรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดโครงการ เดอะ พีค เรสซิเดนซ์ ของบริษัท กะตะบีช จำกัด ตั้งอยู่บนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1863 หมู่ที่ 2 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ว่ามีการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
“บริเวณพื้นที่ป่าสมบูรณ์ยังคงได้รับผลกระทบจากโครงการ เนื่องจากตรวจสอบแล้วว่าการดำเนินการของโครงการ ไม่ได้หยุดการก่อสร้างตามคำสั่งฯ ของหน่วยงานราชการ ยังมีการแอบลักลอบก่อสร้างต่อเติมเรื่อยมา ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำป่าทะลัก ดินโคลนไหลหลาก เนื่องจากโครงการอยู่พื้นที่ลาดเชิงเขา ประชาชนบริเวณหน้าชายหาดได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ และหนังสือ ที่ ยธ 0809.3/510 กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า ศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ 266/2560 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าว เนื่องจากคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ให้ยกเลิกคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด” นายสิระกล่าว
นายสิระกล่าวอีกว่า สิ่งที่กังวลในปัจจุบัน คือ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติบริเวณโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมได้ถูกทำลาย และระบบนิเวศ ทางเดินทางน้ำต่างๆ ไม่เป็นดั้งเดิม ซึ่งเดิมเมื่อฝนตกต้นไม้ปกคลุมดินบนหน้าผาจะซึมซับน้ำเอาไว้ ลดความรุนแรงของการเคลื่อนไหลของน้ำที่จะไหลหลากด้วยความเร็วก่อนจะลงมายังหน้าหาด หรือ ถนนทางเดินสาธารณะ ทั้งนี้ จากลงพื้นที่พบหลังก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมดังกล่าวได้เกิดร่องรอยของดินโคลนถล่ม น้ำไหลหลาก โคลนจากภูเขา เศษหิน และยังมีเศษอิฐบางส่วนจากงานก่อสร้างถูกนำพาลงมากับน้ำลงมาที่บริเวณหน้าชายหาด ซึ่งตนกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในระยะยาวได้
นายสิระกล่าวต่อว่า ที่ดินของโครงการตั้งอยู่ในเขตภูเขา มีความลาดชันเฉลี่ยเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ และมีบางส่วนอยู่นอกเขตภูเขา มีความลาดชันเฉลี่ยไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1863 หมู่ที่ 2 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต จึงเป็นการออกในพื้นที่ที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2497) นอกจากนี้ ในเมื่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1863 หมู่ที่ 2 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ตแล้ว เทศบาลตำบลกะรนมีหน้าที่ต้องระงับการก่อสร้างอาคารหรือชะลอการต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ก่อน แต่เทศบาลตำบลกะรนไม่ระงับการก่อสร้าง รวมถึงพิจารณาต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยวางหลักประกันจำนวน 3 ล้านบาท ซึ่งกรณีดังกล่าวกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารไม่ได้บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการได้
“ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลกะรน มีคำสั่งต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นส่งให้คณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการเอาผิดต่อข้าราชการทุจริตกลุ่มดังกล่าวต่อไป” นายสิระกล่าว
นายสิระกล่าวว่า นายรังสิมันต์ทำงานในสภาฯ และทำงานเป็นโฆษก กมธ.คณะเดียวกันกับตน รวมทั้งนายรังสิมันต์ยังเป็นลูกหลานชาวภูเก็ตอีกด้วย ดังนั้น การที่ลงมาในพื้นที่คราวนี้ร่วมกับตน แม้จะอยู่กันคนละฝ่าย เเต่ถือว่าร่วมกันทำหน้าที่ ส.ส.ในการดูแลประชาชน ไม่มีการแบ่งฝ่ายว่าเป็น ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อนำข้อมูลไปช่วยกันวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
ด้านนายรังสิมันต์กล่าวว่า ในมุมมองของตนนั้น พบว่าการรุกทรัพยากรที่นี่ หากตรวจสอบจริงจะพบว่ามีผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายค่อนข้างมาก ซึ่งข้าราชการท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักในการกระทำดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมมาธิการฯ จะตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจังในทุกกรณีต่อไป