“เรืองไกร” มาตามนัดยื่นหนังสือ กกต. ยกคำวินิจฉัยยุบ ทษช.จี้ชงศาล รธน.ยุบ พปชร. ปมเทียบเชิญ “ประวิตร” นั่ง หน.พรรคที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ทั้งที่วัตถุประสงค์ระบุชัดไม่เกี่ยวข้องการเมือง จึงเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง
วันนี้ (9 ก.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชารัฐ จากกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รักษาการรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแกนนำพรรค ไปเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ให้มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเห็นว่าเป็นกระทำที่เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรค 1 (2) พ.ร.ป.พรรคการเมือง
นายเรืองไกรกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของมูลนิธิป่ารอยต่อ ข้อที่ 2.7 กำหนดไว้ว่า “ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด” แต่นายไพบูลย์ ก็ออกยอมรับว่าได้ไปเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดจริง และมีการโชว์ภาพตามที่ปรากฏในสื่อ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งในวันที่ 27 มิ.ย.ก็ได้มีการเลือก พล.อ.ประวิตรให้เป็นหัวหน้าพรรค ดังนั้นการไปเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ จึงเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อันไม่ใช่วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ เทียบเคียงได้กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่ศาลมองว่าเรื่องเจตนานั้น เมื่อมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติชัดเจนว่าเพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาจำเป็นต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือต้องรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นจริงเสียก่อนหรือไม่ อีกทั้งคำว่าอาจเป็นปฏิปักษ์ในทางกฎหมายเป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัย ไม่ขึ้นกับเจตนา หรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำว่าจะเกิดผลเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่ หากแต่ต้องดูตามพฤติการณ์แห่งการกระทำนั้นๆ ว่าในความคิดของวิญญูชนคนทั่วๆ ไปรับรู้ได้ จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายไพบูลย์ ที่ พล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิเข้าข่ายเป็นความผิดยุบพรรคได้ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน
“มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งข้อ 2.7 ยังอยู่ และนักการเมืองจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายนั้นไม่ได้ เพราะแต่ละคนทำไมไม่ไปทำเนียบรัฐบาล หรือที่ทำการใหม่ของพรรค แต่นี้กลับไปใช้พื้นที่ของมูลนิธิ การเข้าออกอยู่ดีๆ คงไม่มีใครขับรถ จะต้องมีการนัดหมายนั้นแสดงว่ามีเจตนา แต่เจตนาท่านอาจจะรีบ รีบจนลืมข้อกฎหมาย” นายเรืองไกรกล่าว และว่ากรณีนี้อาจเป็นปฏิปักษ์โดยชัดเจน แต่แปลกใจที่ กกต.เพิกเฉย ต่างจากกรณีการดำเนินการยุบพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ตนจึงต้องมายื่นให้ตรวจสอบ พร้อมกับให้ตรวจสอบกรณี พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา ส.ว.ที่เข้ามาแทรกแซงพรรคการเมือง ล็อบบี้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐให้ลาออกซึ่งได้ยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้ แต่ กกต.ยังไม่เรียกมาให้ถ้อยคำ
อย่างไรก็ตาม หาก กกต.พบว่ามีความผิดขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรค เหมือนกรณีพรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ก็จะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการในขณะนั้นมีความผิด ส่วน พล.อ.ประวิตร ที่ในขณะนั้นยังไม่มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร ศาลก็คงให้ความเป็นธรรม
นายเรืองไกรยังกล่าวถึงกรณีที่ไพบูลย์ ระบุจะฟ้องร้องกลับตนนั้นว่าก็ยินดีเพราะหลักฐานที่เอามายื่นต่อ กกต.ก็นำมาจากพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่า กกต.จะใช้เวลาไม่นานเพราะภาพหลักฐานก็ปรากฏตามสื่ออยู่แล้ว
ส่วนกรณี 4 รมต.เศรษฐกิจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ควรแล้ว เพราะเป็นคนที่ก่อตั้งพรรคมา โดยขณะนั้นยอมสละโอกาสในการลงสมัคร ส.ส. แต่ยังทำหน้าที่รัฐมนตรี จนพรรคชนะการเลือกตั้ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ขณะนี้กลับจะมีการนำนักเลือกตั้งเข้ามาแทน หากตนเป็นสี่กุมารก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน และหากเห็นว่าการลาออกมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองก็ขอให้ไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพราะไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เชื่อว่าหากมีการยุบสภา หรือครบวาระก็จะมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นถ้าอยากทำงานทางการเมืองก็ควรรีบลาออก แล้วไปตั้งพรรคใหม่ และบอกให้ประชาชนรับรู้