เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือ กมธ.พัฒนาการเมืองสอบศอ.บต. ปิดกั้นการมีส่วนร่วมปชช.โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมอนาคต ปมให้อำนาจ เอื้อประโยชน์ ทบทวนเลื่อนจัดเวทีวันที่11 ก.ค.ออกไปก่อน
วันนี้ (2 ก.ค.) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นางไซหนับ ยะหมัดยะ ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ต่อการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สืบเนื่องจากทาง ศอ.บต เป็นองค์กรหลักในการผลักดันโครงการจะนะฯ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21ม.ค. ที่ให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และโครงการนี้จะทำให้พื้นที่ริมทะเลลึกเข้ามาถึงบนบกของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม เป็นนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ของเอกชนรายเดียวคือ บริษัท ทีพีไอโพลีนพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 16,753ไร่ นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่อีก ท่าเรือ ซึ่งจะมีทั้งเรือสินค้า เรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน และเป็นอู่ซ่อมเรือเดินสมุทร มาตั้งในพื้นที่ 3ตำบลดังกล่าวด้วย
ทั้งหมดนี้จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนขนาดใหญ่ในพื้นที่ อ.จะนะ รวมถึง จ.สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและไม่อาจจะหวนกลับมาได้ ดังนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจโดยประชาชนอย่างกว้างขวางจึงมีความสำคัญมาก แต่ในความเป็นจริงนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนที่จัดขึ้นโดย ศอ.บต. มีข้อจำกัดอย่างมาก เข้าลักษณะของการปิดกั้นการมีส่วนร่วมอย่างผิดปกติ ทั้งยังมุ่งใช้รูปแบบของกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเพียงพิธีกรรมในการผลักดันโครงการเท่านั้น ดังนั้น เครือข่ายฯ ในฐานะองค์กรประสานงานกลางของภาคประชาชน อ.จะนะ
จึงขอเรียกร้องต่อคณะ กมธ. ให้ตรวจสอบการดำเนินงานของ ศอ.บต. ภายใต้โครงการจะนะฯ ดังนี้1.ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจ บทบาทหน้าที่ การตั้งกลไกคณะทำงาน และการใช้งบประมาณของศอ.บต. ในโครงการนี้ว่ามีความเหมาะสม เป็นกลาง หรือเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องอย่างไร หรือไม่ 2.ขอให้ตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานทั้งหมดที่ผ่านมา โดยเฉพาะเวทีชุมชน และเวทีต่าง ๆ ที่ได้จัดไปแล้วว่า มีเจตนาปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือไม่ อย่างไร และ3.ประสานงานให้มีการทบทวนการจัดเวทีในวันที่ 11ก.ค. ออกไปก่อน
ทั้งนี้เพื่อให้มีการตรวจสอบตามข้อเสนอที่ 2เสียก่อนว่า ยังมีเจตนาปิดกั้นการมีส่วนร่วมหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบมติ ครม. ที่ให้ อ.จะนะ เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจทั้ง 2ครั้งว่า การอนุมัติโครงการนี้ดำเนินการภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่ และหากพบว่ามีความผิดปกติก็ขอให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ไปก่อน หลังจากนั้นจึงจัดกระบวนการมีส่วนร่วมที่เป็นจริง เพื่อพิจารณาอนาคตของ อ.จะนะ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป มากกว่าที่จะพัฒนาบนฐานอุตสาหกรรมที่จะสร้างความเสียหายต่อทั้งวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่อาจนำกลับคืนมาได้
ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เวทีการรับฟังของ ศอ.บต. เกิดขึ้นในช่วงที่มีการต่ออายุ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา มีการใช้กฎหมายพิเศษจนทำให้เกิดโครงการลักษณะที่ประชาชนถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากมีโครงการเกิดขึ้นประชาชนย่อมได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่ง ส.ส.พรรคก้าวไกลจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. การพัฒนาการเมืองฯ ต่อไป