รองนายกฯ ขอความกรุณาฝ่ายค้าน-นักเคลื่อนไหว เห็นใจซึ่งกันและกัน หลังจี้ให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุ สิทธิเสรีภาพถูกผ่อนคลายหมดแล้ว ลุยแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อใน 1 ปี อ้าง จะได้ไม่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ
วันนี้ (1 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ส้มภาษณ์ถึงการขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ว่าหลังจากนี้ ศบค.ชุดเล็กจะติดตามประเมินสถานการณ์รายวัน และจะประชุมทุกๆ 7 วัน คาดว่าตลอดเดือน ก.ค.นี้จะประชุม 3-4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมจนเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงไม่กี่อย่าง เช่น ชนไก่ ชนปลากัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่กระทบต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากิน จึงยังเก็บไว้ก่อน อีกทั้งกิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการพนัน แต่ในที่สุดคาดว่าคงจะต้องผ่อนคลาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องการให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายวิษณุกล่าวว่า ก็กรุณาเข้าใจและเห็นซึ่งกันและกัน รัฐเองเข้าใจ อาจจะมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าดูให้ดีแล้วสิทธิเสรีภาพที่เคยถูกจำกัดเพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะนี้ถูกผ่อนคลายไปจนเกือบหมดแล้ว ขอย้ำอีกครั้งว่า ในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจรัฐ 6 อย่าง คือ 1. เคอร์ฟิว มีการยกเลิกแล้ว 2. ห้ามชุมนุมในทางที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด เรื่องนี้ยังมีอยู่ แต่อยู่ในนามของมาตรการรักษาระยะห่าง จึงไม่ทำให้คนเดือดร้อน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ก็ไม่ได้ว่าอะไรหากรักษาระยะห่าง 3. เรื่องเกี่ยวกับสื่อ ที่ห้ามเฉพาะสื่อที่ไปบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาด ไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นในเรื่องอื่น 4. การห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการขนส่ง ตอนนี้ไม่ได้ห้ามแล้ว เราเปิดสนามบินแล้ว 5. การห้ามเข้าไปในสถานที่ต่างๆ ตอนนี้เราไม่ได้ห้าม มีการเปิดหมดแล้ว แต่ต้องรักษาความปลอดภัย หากเจ้าหน้าที่ไปตรวจแล้วพบว่าไม่ปลอดภัยสามารถสั่งปิดได้ แต่จะเปิดเฉพาะสถานที่นั้นๆ จะไม่สามารถไปสั่งปิดห้างสรรพสินค้าทุกแห่งเหมือนที่ผ่านมาได้ และ 6. การอพยพคน ซึ่งยังไม่เคยใช้เลย
“รวมความแล้วผลของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็มีอยู่แค่นี้ และไม่มีอะไรอีก หากใครไปอ่านข้อกำหนด คำปรารถ ข้อความ คำนำข้างหน้าที่ยาวๆ ซึ่งคนไม่ค่อยสนใจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะไปสนใจว่าเปิดหรือปิดอะไรเท่านั้น ให้ช่วยอ่านว่า สิ่งที่เหลืออยู่คู่กับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนถึงวันนี้คือ การบูรณาการอำนาจเจ้าหน้าที่ ซึ่งใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่สามารถเปิดให้บูรณาการแบบนี้ได้ รมว.สาธารณสุข หรืออธิบดีกรมควบคุมโรค ไม่มีอำนาจไปสั่งเจ้าหน้าที่ ตม. ตำรวจ แต่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ สามารถสั่งได้ โดยนายกฯ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กว่า 4 หมื่นคนมาสนธิกำลังทำงานร่วมกัน”
เมื่อถามถึงการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในการทำงาน นายวิษณุ กล่าวว่า ในส่วนนี้ยังต้องทำต่อไป แต่ยังต้องใช้เวลา ขณะนี้เรากำลังถอดบทเรียน เหมือนกรณีของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนว่ามีอะไรบ้างที่ โดย พ.ร.บ.โรคติดต่อเพิ่งออกมาเมื่อปี 2558 ซึ่งไม่ทันสมัยแล้ว ตัวแพทย์ที่ร่างกฎหมายก็ออกมายอมรับว่าร่างเพื่อใช้ในการรองรับในการแพร่ระบาดระดับเล็ก แต่พอมาเจอการระบาดใหญ่ที่ไปทั่วโลกกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถรับมือได้ ตนได้เคยพูดไปแล้วว่าเมื่อเปิด พ.ร.บ.โรคติดต่อตั้งแต่มาตราแรกจนถึงมาตราสุดท้าย ไม่มีที่ไหนสั่งบังคับให้คนสวมหน้ากากอนามัย ไม่มีที่ไหนสั่งให้คนกักตัว ไม่มีที่ไหนสั่งให้รักษาระยะห่าง แต่เราต้องยอมรับว่านี่คือมาตรการป้องกันโรคสมัยใหม่ โดยเมื่อปี 2558 เขาไม่ได้นึกถึง อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุไว้ว่าหากมีโรคระบาด เราจะต้องให้การรักษาพยาบาลโดยไม่คิดมูลค่า แต่ ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อระบุไว้ว่า ให้เก็บค่าใช้จ่ายจากสายการบินที่นำเข้ามา ซึ่งไม่มีใครยอม จึงต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคเรียนรู้ดูสถานการณ์วันต่อวัน วันนี้ตนยังได้แจ้งกับอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า ให้เตรียมร่างการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้วันหลังจะได้ไม่ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อก็พอ
เมื่อถามว่าจะใช้ระยะเวลาการแก้ไขนานเท่าไหร่ นายวิษณุกล่าวว่า คงไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ กว่าจะเข้าสภาผู้แทนราษฎร กว่าจะเข้าวุฒิสภา กว่าจะทูลเกล้าฯ ถวาย กว่าจะประกาศใช้ วันนี้ทำเพียงเก็บข้อมูลว่าจะต้องแก้อะไร รวมถึงต้องดูว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขไปประมาณ 50% แล้ว คาดว่าจะออกมาได้ภายใน 1 ปี
เมื่อถามว่า ในส่วนที่จะมีการแก้ไข จะต้องมีการกำหนดโรค หรือเขียนกว้างๆ ว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องกำหนดชื่อโรค โดยใน พ.ร.บ.โรคติดต่อใช้คำว่าโรคติดต่อ โรคติดต่อร้ายแรง และโรคระบาด ซึ่ง พ.ร.บ.นี้เป็น พ.ร.บ.โรคต่อติด ไม่ใช่โรคระบาด ในอนาคตจึงคิดว่า อาจจะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อและโรคระบาด
“มีเรื่องตลกเกิดขึ้นเมื่อตอนที่ผมได้ประชุมกับกระทรวงมหาดไทย เพราะเขามี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เดิมเราคิดว่าจะนำกฎหมายนี้มาใช้ แต่คำว่าสาธารณภัยเป็นการกระทำที่เกิดจากมนุษย์หรือธรรมชาติ รวมถึงโรคระบาดด้วย แต่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นโรคติดต่อ ไม่ใช่โรคระบาด พ.ร.บ.2 ฉบับใช้คำต่างกัน จึงต้องมีการแก้ไขฉบับใดฉบับหนึ่ง หากจะแก้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ให้แก้คำว่า โรคระบาดเป็นโรคติดต่อ ซึ่งจะแก้ไขแค่คำเดียว หากไปแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็อาจจะต้องแก้ไขทั้งฉบับ”
เมื่อถามว่า ภายหลังผ่อนคลายให้เปิดกิจการอาบอบนวด หากมีการระบาดซ้ำจะมีมาตรการอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า 1. สั่งปิดกิจการนั้นชั่วคราว ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่ไม่สามารถสั่งจำคุกเขาได้ 2. คนที่เข้าไปอาจจะมีความผิด ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะลงโทษคนเหล่านี้ แต่ตั้งใจจะเล่นงานสถานประกอบการมากกว่า ตนได้แจ้งไปทางแพทย์แล้วว่าถ้าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ อย่าไปเพ่งเล็งเรื่องการเพิ่มโทษ ให้ใส่โทษทางปกครองหรือโทษทางบริหารไปแทน หมายถึงการตำหนิ เตือน หรือให้รัฐเข้าไปจัดการ โดยในกฎหมายเดิมไม่มี เพราะไม่มีประโยชน์หากเกิดโรคระบาดแล้วเอาคนไปเข้าคุก ควรแก้ที่พฤติกรรมดีกว่า 3. เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ 4. แก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เรื่องที่รัฐต้องป้องกันและรักษาโดยไม่คิดมูลค่า