xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิวแกนนำ นปช.ลุ้นหนัก คุก-ไม่คุก !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วีระกานต์ มุสิกพงศ์ - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ - นพ.เหวง โตจิราการ
เมืองไทย 360 องศา

จะเรียกว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ ตามกำหนด เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 หมายเลขดำ อ.3531/2552

สำหรับคดีนี้ มีจำเลย คือ นายนพรุจ หรือ พรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน นายวันชัย นาพุทธา นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลย 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

คดีนี้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้วถึง 4 ครั้ง ด้วยหลายเหตุผล ทั้งเหตุที่มีจำเลยบางคนอ้างว่าป่วย และมีจำเลยบางคน คือ จำเลยที่ 4-7 ขอกลับคำให้การ จากเดิมปฏิเสธและสู้คดีมาเป็นรับสารภาพเพื่อขอบรรเทาโทษ รวมไปถึงสาเหตุที่มีจำเลยบางคนอ้างว่าไม่ได้รับหมายศาล เนื่องจากย้ายที่อยู่ใหม่ จนกระทั่งล่าสุดได้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาอีกครั้ง เป็นวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 58 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วน นายวีระกานต์ นายณัฐวุฒิ นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ และให้ยกฟ้อง นายวีระศักดิ์ และ นายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ริบของกลาง

ต่อมาวันที่ 10 ม.ค. 60 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็น ผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม มาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วน นายนพรุจ จำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้อง จำเลยที่ 2-3

เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์และแนวโน้มของคดีแล้วก็ต้องพูดตามความเป็นจริงว่า “น่าหวาดเสียวมาก” ระหว่างคุก กับไม่คุก ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุแห่งคดีดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ จำเลยที่ 4-7 คือ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ ต้องขอเปลี่ยนคำให้การใหม่ จากเคยปฏิเสธมาเป็นการรับสารภาพในช่วงท้ายๆ ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ต้องเลื่อนอานคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่ง

แน่นอนว่า อาจเป็นเพราะแท็กติกทางกฎหมายที่ต้องการยื้อเวลา อีกทั้งอาจมองเห็นแล้วว่า หากต่อสู้คดีแบบเดิมอาจจะ “หนัก” เนื่องจากผลจากคำพิพากษาทั้งจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ออกมาในแนวทางเดียวกัน แม้ว่าจะมีการพิพากษาแก้บ้าง แต่ถึงอย่างไรก็เป็น “โทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา” แต่นั่นก็ถือว่าเป็นดุลพินิจของศาล และแนวทางการต่อสู้ทางกฎหมายของฝ่ายจำเลยที่ว่ากันไปตามสิทธิ์

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือ สำหรับจำเลยในคดีนี้มีแกนนำคนสำคัญของกลุ่ม นปช. ที่ขาดหายไปก็คือ นายจุตพร พรหมพันธุ์ รวมไปถึงอีกหลายคน เช่น นางธิดา ถาวรเศรษฐ เป็นต้น แต่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ก็คือ คดีนี้ถือเป็นคดีแรกๆ สำหรับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ต้องมาลุ้นคุกอย่างน่าหวาดเสียวที่สุด ขณะที่แกนนำคนอื่นๆ ล้วนถูกดำเนินคดีและถูกจำคุกกันมาหลายคนแล้ว โดยเฉพาะ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่โดนจำคุกคดีอาญาในคดีหมิ่นประมาทและคดีแพ่งที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายร่วมกับแกนนำคนอื่นๆ (ที่ถูกฟ้องในคดีนี้) จำนวนหลายล้านบาทจากผู้เสียหายกรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 53 จนทำให้เขากลายเป็นคนที่มีคุณสมบัติต้องห้ามทางการเมือง เนื่องจากเคยถูกพิพากษาจำคุกมาแล้ว

สำหรับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะว่าไปแล้วถือว่าคดีที่จะมีการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เป็นการชี้ชะตาในทางการเมืองสำหรับอนาคตอีกด้วย เพราะแม้ว่ายังมีอีกหลายคดี โดยเฉพาะที่เป็นจำเลยคดีอาญาร่วมกับแกนนำ นปช.คนอื่นๆ แต่เชื่อว่ายังต้องใช้เวลาตามขั้นตอนอีกระยะหนึ่ง แต่สำหรับในวันที่ 26 มิถุนายน หากไม่มีเหตุให้ต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปอีก ก็ต้องบอกได้คำเดียวว่าต้องลุ้นว่า คุกหรือไม่คุก กันตัวโก่งเลยทีเดียว !!



กำลังโหลดความคิดเห็น