xs
xsm
sm
md
lg

ด่วน! ศาลฎีกาจำคุก “วีระกานต์” กับพวก นปช.บุกบ้าน “ป๋าเปรม” 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา “เต้น” ใส่เสื้อหงส์แดงเข้าเรือนจำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลฎีกาจำคุก “วีระกานต์-เหวง-ณัฐวุฒิ กับพวก นปช.บุกบ้าน “ป๋าเปรม” สี่เสาเทเวศร์ คนละ 2 ปี 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ชี้พฤติการณ์ร้ายแรง ก่อความรุนแรงในบ้านเมือง ก่อนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะคุมตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ



กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ หรือ นพรุฒ วรชิตวุฒิกุล จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์ มุสิกพงษ์, นายณัฐวุฒิ ใสบเกื้อ, นายวิภูแถลง วิวัฒนภูมิไทย และ นพ.เหวง โตจิราการ จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานฯ ให้ยกฟ้องนายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน และ นายวันชัย นาพุทธา จำเลยที่ 2-3 ริบของกลางทั้งหมด

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3

ในวันนี้ นายนพรุจ จำเลยที่ 1, นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ , นายวิภูแถลง, นพ.เหวง แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4-7 ทั้งหมดเป็นจำเลยที่ต้องสู้คดีถึงชั้นฎีกา เดินทางมาศาล หลังจากก่อนหน้านี้มีเหตุต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 4 ครั้ง อาทิ กรณีจำเลยที่ 4-7 ยื่นขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยวันนี้มี นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษา นปช., นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมญาติ แกนนำและมวลชน นปช. ส่วนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ
นพ.เหวง ให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีปฏิบัติตามคำพิพากษาทุกประการ ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ขณะที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษา นปช. และภรรยา นพ.เหวง ระบุว่า ชะตากรรมแกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงเหมือนที่ตนเคยพูดไว้ว่า ไม่เข้าเรือนจำ ก็อาจสูญเสียถึงชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นชะตากรรม แต่ก็เป็นเกียรติภูมิว่า การต่อสู้เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพ ประชาธิปไตย แม้ต้องสูญเสียอิสรภาพหรือถึงแก่ชีวิต ก็เป็นเกียรติประวัติ ที่มีทั้งความเจ็บปวดและรางวัล ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ขอให้ภาคภูมิใจ ว่าทั้งหมดที่ได้ทำไปนั้นอยู่บนจุดยืนเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมของประชาชน
ส่วน นายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นอีกวันที่มาถึง เพราะว่าเราเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในทุกคดีความที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมือง ดังนั้นเมื่อมีการนัดอ่านคำพิพากษาในชั้นฎีกา พวกตนก็พร้อมที่จะเดินทางมารับฟังผลคำพิพากษาในคดี ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องของกระบวนการพิพากษาของศาล และพร้อมยอมรับในทุกกรณีอย่างไรก็ตาม ภารกิจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เรื่องของบุคคล ดังนั้นการที่จะมีหรือไม่มีคนหนึ่งคนใด ในสถานการณ์ต่อสู้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดการสะดุดหรือติดขัดหรือหยุดลง วันนี้เราเห็นคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ออกมาแสดงพลัง หน้าที่ของพวกตนกว่า 10 ปีมานี้ ก็มีคนร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบกันมาอย่างต่อเนื่องนายณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า หากว่าวันนี้ถึงที่สุดแล้วยังมีอิสรภาพจุดยืนก็ยังเหมือนเดิม แต่หากสูญสิ้นอิสรภาพ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่เคยต่อสู้มา ก็ยังคงยืนยันในหลักการประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการรัฐประหาร และไม่เชื่อว่าอำนาจเผด็จการ จะสร้างประชาธิปไตย และตนไม่เชื่อว่าตลอดเวลาของการรัฐประหารครั้งนี้ กำลังนำพาประเทศไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง หรือเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง เหล่านี้คือจุดยืนของตนสิ่งที่เราต่อสู้มานั้นเกิดเป็นมรรคเป็นผลอะไรกับประชาธิปไตยไทยหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า หากเปรียบเทียบกับวันแรก ที่ตนออกไปยืนบนเวทีที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2550 จนถึงวันนี้ เราเห็นพัฒนาการของสังคมไทย แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคและเกิดความเสียหายขึ้นมาหลายด้าน แต่อย่างน้อยที่สุดพลังที่จะผลักดันประเทศไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องยังคงอยู่และกำลังเพิ่มขึ้นมีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตนไม่รู้สึกเสียใจที่ได้ออกมาเดินต่อสู้ร่วมกับประชาชน

ผู้สื่อข่าวเห็นนายณัฐวุฒิสวมเสื้อทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลมาศาล จึงถามว่าฟุตบอลกับการเมืองนั้นเกี่ยวกันอย่างไร นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ทั้ง 2 อย่างต้องมีกติกาที่เป็นสากล ดังนั้นหากกติกาเป็นสากล แล้วทุกฝ่ายแข่งขันกันโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อนกหวีดเป่าหมดเวลาทุกอย่างจบ มิตรภาพก็เกิดขึ้นทั้งในและนอกสนาม แต่หากว่าแต่ละฝ่ายลงสนามโดยกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้ข้างใดข้างหนึ่ง โดยกรรมการที่ยักคิ้วหลิ่วตากับนักเตะอีกข้างตลอดเวลา ถึงวันนั้นแม้นกหวีดจะเป่าหมดเวลา เกมส์ก็ยังไม่จบ และการแข่งขันฟาดฟันกันจะไม่ใช่เฉพาะนักกีฬาในสนาม แม้กระทั่งกองเชียร์ก็ลงสนามมาเผชิญหน้ากัน นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ทั้งในสนามกีฬาและสนามทางการเมือง แต่ในสนามการเมืองไม่มีนกหวีดหมดเวลา มีเวลาอยู่เสมอ ตราบเท่าที่ผู้คนที่กำลังต่อสู้ไม่หมดกำลังใจไปเสียก่อน ลิเวอร์พูลยังรอได้ตั้ง 30 ปี เราสู้มากว่า 10 ปี ก็ยังเป็นหน้าที่ที่ต้องสู้ต่อไป เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ต่อมา ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. กว่าๆ ใช้เวลาอ่านนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว กรณีจำเลยที่ 4-7 เพิ่งยื่นฎีกาแก้ไขคำให้การเป็นรับสารภาพนั้น ไม่อาจกระทำได้ ต้องทำก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ปัญหาวินิจฉัยนายนพรุจ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางทำร้ายเจ้าพนักงานหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม (ยศในคำพิพากษา) ตำรวจผู้บาดเจ็บเป็นพยานเบิกความ ภายหลังผู้บังคับบัญชามีคำสั่งสลายชุมนุม พยานเห็นรถกระบะพุ่งเข้ามาจะชนแถวเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ตำรวจหลบพ้น รถเสียหลักชนเกาะกลางถนน คนขับรถวิ่งหนีเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเห็นจำเลยที่ 1 อยู่ท้ายรถยืนถือเสาธงพร้อมขว้างอิฐใส่ตำรวจ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ พยายามเข้าไปดึงขาจำเลยที่ 1 ที่ยืนอยู่บนกระบะ จำเลยที่ 1 จึงกระโดดชันเข่ากระทุ้งใส่ เป็นเหตุให้ พ.ต.ต.ทวีศักดิ์ ได้รับบาดเจ็บข้อมือขวาหัก จึงจับกุมจำเลยที่ 1 ดำเนินคดี

ศาลเห็นว่าตำรวจเป็นประจักษ์พยานโดยตรง เบิกความไม่มีพิรุธ จำเลยที่ 1 ยืนบนรถกระบะและถูกจับกุมจริง เหตุแห่งการจับกุมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ เป็นความผิดซึ่งหน้า ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างไม่มีภาพถ่ายพยานหลักฐานเพียงพอนั้น เห็นว่าในเหตุชุลมุนวุ่นวาย เจ้าพนักงานตำรวจผู้ถ่ายรูปต้องคอยหลบหลีกก้อนอิฐที่ปาเข้าใส่จากหลายทิศทาง ไม่มีโอกาสถ่ายรูปจำเลยที่ 1 ให้เห็นทุกขั้นตอน ต้องอาศัยพยานในที่เกิดเหตุ ประจักษ์พยานที่จับกุมจำเลยที่ 1 ให้การตรงไปตรงมา ไม่มีพฤติการณ์กลั่นแกล้งจับกุมเพื่อหวังประโยชน์ใดๆ มีน้ำหนักรับฟัง

และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (รักษาการ ผบ.ตร.ขณะเกิดเหตุ) สั่งการให้จับตนเพราะมีเหตุโกรธเคืองนั้น เห็นว่าการจับกุมจำเลยเกิดจากการทำผิดซึ่งหน้า เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเชื่อมโยงกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลล่าง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่าพฤติการณ์เป็นการก่อเหตุร้ายแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง มิได้สำนึกถึงความผิด ไม่สมควรรอการลงโทษ ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ปัญหาวินิจฉัยนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้หมายความให้ใช้เสรีภาพปราศจากขอบเขตละเมิดสิทธิผู้อื่น กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่เบิกความเป็นพยานหลายปาก เกี่ยวกับวันเกิดเหตุที่กลุ่ม นปก. (ชื่อขณะนั้น) นัดหมายเดินขบวนไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตเคลื่อนขบวน ตำรวจจึงวางแผนรักษาความสงบเรียบร้อย โดย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (ขณะเกิดเหตุ) ได้แจ้งผู้ชุมนุมว่าตำรวจไม่อนุญาตให้ผ่านเส้นทางเพราะเป็นพื้นที่หวงห้าม แต่จำเลยที่ 7 ยืนยันที่จะผ่านจุดสกัด

จากนั้นผู้ชุมนุมได้ประชิดจุดสกัดตามคำปราศรัยของจำเลยที่ 5 ดึงแผงรั้วเหล็กทิ้งคลองผดุงกรุงเกษม ผลักดันตำรวจและฝ่าแนวกีดขวาง จนไปปักหลักชุมนุมที่หน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม โดยจำเลยปราศรัยโจมตีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจและจะชุมนุมจนกว่า พล.อ.เปรม จะลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี ตำรวจเจรจาให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยไม่ยินยอม พร้อมปราศรัยให้ผู้ชุมนุมฮึกเหิมพร้อมก่อความรุนแรง ตำรวจมีมติให้ผลักดันผู้ชุมนุมอย่างละมุนละม่อม ไปเชิญแกนนำมาเจรจา หากไม่เป็นผลให้ตัดสายสัญญาณเครื่องขยายเสียง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ถูกผู้ชุมนุมขว้างอิฐ ไม้ และขวดน้ำ จนต้องล่าถอย จึงมีมติให้จับกุมแกนนำและสลายการชุมนุมด้วยกระบอง แก๊สน้ำตา จากนั้นถูกผู้ชุมนุมใช้อิฐและสิ่งของอื่นขว้างเข้าใส่จนต้องล่าถอยมา 3 ครั้ง จึงสามารถสลายการชุมนุมได้สำเร็จ

ตามทางนำสืบ โจทก์มีพยานหลักฐานวัตถุพยานภาพ วิดีโอ และเทปปราศรัย ขณะจำเลยชุมนุมที่สนามหลวงเป็นการชุมนุมโดยสงบมาตลอด เหตุที่จำเลยที่ 4-7 ต้องการนำผู้ชุมนุมไปปราศรัยที่หน้าบ้านสี่เสาฯ นั้น จำเลยเบิกความถึงภาพ พล.อ.เปรมนำคณะยึดอำนาจเข้าเฝ้า ว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของประธานองคมนตรี เมื่อปราศรัยมานานไม่ได้รับการตอบสนอง จึงนัดหมายไปทวงถาม พล.อ.เปรม โดยตรง เรียกร้องให้ตอบข้อสงสัยและกดดันให้ลาออก จำเลยที่ 4-7 เชื่อว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ โดยความจริงแล้วจำเลยไม่มีหลักฐานมั่นคงมาพิสูจน์ให้รับฟังได้ และ พล.อ.เปรม ไม่ได้นัดหมายหรือแถลงข่าวให้จำเลยที่ 4-7 ฟังคำตอบหรือคำชี้แจง การที่จำเลยที่ 4-7 นำผู้ชุมนุมไปปราศรัยโจมตี จึงเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของ พล.อ.เปรม

จำเลยที่ 4-7 และกลุ่ม นปก. เคลื่อนขบวนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจโดยชอบในการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ จำเลยและแกนนำได้ปราศรัยแสดงเจตนาจะไปให้ถึงบ้าน พล.อ.เปรม สำเร็จ ทั้งหมดเป็นหลักฐานประจักษ์ตอกย้ำละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพของ พล.อ.เปรม ไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบ มั่วสุมชุมนุมโดยใช้กำลังประทุษร้าย กีดขวางการจราจรไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนจุดสกัด เมื่อถึงหน้าบ้านพัก พล.อ.เปรม จำเลยได้ปราศรัยจะชุมนุมอยู่ที่นี่จนกว่าจะชนะ จนกว่า พล.อ.เปรม จะพ้นตำแหน่ง ส่งเสียงดังรบกวนไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเครื่องขยายเสียง ประชาชนไม่สามารถใช้ถนนได้ การที่ตำรวจตัดสินใจดำเนินการยับยั้งสมเหตุสมผล เพราะแกนนำและผู้ชุมนุมไม่ตอบสนอง พร้อมต่อต้านขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ มีเจตนาเผชิญหน้า ตำรวจไม่ได้ก่อเหตุทำร้ายผู้ชุมนุมก่อน ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมถึงแก่ความตาย จึงไม่เกินกว่าเหตุตามที่จำเลยอ้าง

ส่วนที่จำเลยที่ 4-7 ฎีกาขอลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า การกระทำเป็นลักษณะเตรียมวางแผนล่วงหน้าในการนำมวลชนจำนวนมากไปมั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย ทำลายทรัพย์สินราชการ ฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจ ต่อสู้ขัดขวางตำรวจจนเกิดการปะทะเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน จำคุกจำเลยที่ 1, 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน

บรรยากาศภายหลังพิพากษา ญาติของจำเลยและมวลชน นปช. ที่เดินทางมาให้กำลังใจในห้องพิจารณาคดี ต่างเข้าไปพูดคุยร่ำลากับจำเลยทั้งห้า พร้อมจับมือและสวมกอด อาทิ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติและอดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ได้เข้ามาสวมกอดให้กำลังใจนายณัฐวุฒิ ขณะที่ญาติและมวลชนบางรายได้ร่ำไห้ บ่นแสดงความไม่พอใจ ต่อมาระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทยอยควบคุมตัวจำเลยทั้งห้าออกจากห้องพิจารณา เพื่อนำไปคุมขังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดนั้น นายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ร่ำไห้ ส่วนมวลชนก็มีทั้งร่ำไห้และส่งเสียงให้กำลังใจจำเลยด้วย

ต่อมา นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ให้สัมภาษณ์ว่า ตนและคณะได้พูดเป็นสัจธรรมมาตั้งแต่ต้น ว่าบนหนทางการต่อสู้ของพวกเรานั้นไม่ตายก็ติดคุก วันนี้พี่น้องเราทุกคนที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาจำคุก ซึ่งทุกคนก็น้อมรับคำตัดสิน ตนและที่เหลืออยู่ในสำนวนคดีที่สอง (คดีบุกบ้านสี่เสาฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งนายจตุพรถูกฟ้องทีหลัง) ก็รอคำพิพากษาเช่นกัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนที่ผ่านเรื่องราวกันมาต่างเหลือพื้นที่กันน้อยมาก อยากบอกว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส. ก็ต่างอยู่บนวิถีทางที่ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่าพวกตนจะติดคุกกันมากขึ้น และสังขารของผู้อาวุโสของแต่ละฝ่ายก็อยู่ในช่วงยากลำบากทั้งสองฝ่าย ที่เหลือก็ทยอยกันขึ้นศาล

นายจตุพร กล่าวต่อไปว่า จากที่ได้เข้าฟังคำพิพากษานั้น ตนเห็นว่าที่แตกต่างกันคือ ตนยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ก็ต้องไปจัดการชีวิตทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนรวม เรื่องสุขภาพ เพราะต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง พวกตนน้อมรับคำตัดสินของศาลอย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ได้พูดคุยกับทั้ง 5 คนในคดีนี้อยู่บ้าง เพราะกว่า 10 ปีนี้ มันมีเรื่องราวกันมากเหลือเกิน แม้กระทั่งคนที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามมาอยู่ฝ่ายเดียวกันก็มี เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ส่วนนายชัยเกษม นิติศิริ อดีตอัยการสูงสุด ก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นความลำบากของชีวิตไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองก็ลำบาก ทุกฝ่ายที่ต่อสู้กันมาช่วง 10 ปีนี้ ที่ไม่ติดคุกก็ต้องมาขึ้นศาลทุกสัปดาห์ พวกเราต่างรู้จักกันมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ทั้งสิ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล จุดยืนของ นปช. อยู่ตรงไหน นายจตุพร กล่าวว่า ตนเองเห็นว่าสถานการณ์ของประเทศไทยวันนี้ อยู่ในสถานะที่ยากลำบาก ตนได้รู้จักและมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังหลายคน ต่างเห็นว่าภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศจะหนักขึ้น ตั้งแต่เดือนหน้าและเดือน ส.ค. จึงอยู่ในช่วงที่ควรจะเอาชาติบ้านเมืองและประชาชนไว้ก่อน มากกว่าที่ใครจะมาเป็นนายกฯ หรือใครจะมาบริหาร เป็นรัฐมนตรี ตนเลยจุดที่มองว่าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือยกเลิกประกาศใช้ เพราะความทุกข์ของประเทศที่รออยู่ข้างหน้าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราเดินมาถึงจุดปลายของชีวิต เราย่อมจะมองเห็นว่าจะเอาประเทศและประชาชนรอดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้สนใจว่าใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นรัฐมนตรี

เมื่อถามว่าแกนนำสองฝ่ายต่างมีประสบการณ์แตกต่างกัน มีความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัวบ้างหรือไม่ นายจตุพร กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็น กปปส. หรือพันธมิตรฯ เราไม่เคยมีเรื่องส่วนตัวกัน และหลายคนต่างก็เคยร่วมชุมนุมเวทีเดียวกัน คือเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 เจอกันก็มีโอกาสพูดคุยและทักทายเป็นเรื่องปกติ เพราะการต่อสู้ทั้งหมดกว่า 10 ปีนี้ ไม่เคยมีเรื่องส่วนตัวใดๆ ตนจึงเข้าใจสัจธรรมชีวิต แต่ยังเชื่อว่าในช่วงชะตากรรมแบบนี้ และช่วงวิกฤตของบ้านเมือง ทุกฝ่ายกำลังจะร่วมกันช่วยแก้ปัญหาวิกฤต ยังเชื่อว่าบ้านเมืองต่อไปนี้ ถึงยุคที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาช่วยเหลือตัวเอง ขณะนี้อย่าหวังรายได้จากการท่องเที่ยว เครื่องบินที่จอดทิ้ง 3 -4 เดือนนี้ก็มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะการท่องเที่ยวแต่ละแห่งย่อยยับแล้ว จึงไปไกลกว่าเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว ช่วงที่ตนยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ก็อยากร่วมกับทุกฝ่ายฝ่าฟันวิกฤตของชาติให้ผ่านพ้นไปให้ได้ คือหลักการประชาธิปไตยไม่เป็นอย่างอื่น แต่เมื่อบ้านเมืองของเราอยู่ในสภาพที่เงินเยียวยาเดือนสุดท้าย เดือนหน้าก็ไม่มีเงินแล้ว แล้วประชาชนก็ประสบความยากลำบาก เพราะฉะนั้นในวันนี้ถ้าเราคิดแต่ในมิติทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ตนเชื่อว่าเรายังไม่ตกผลึกในช่วง 10 ปีนี้ ตนไม่มีสิทธิหรือผลประโยชน์ทางการเมืองว่าต่อสู้เพื่อจะเป็นตำแหน่งอะไร

“ถ้าใครฟังคำพิพากษาก็รู้ว่าอย่างไรผมก็ไม่รอด 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมก็ยอมรับความเป็นจริง เวลาที่เหลืออยู่ถ้าผมทำอะไรได้ให้กับประเทศชาติบ้านเมืองในท่ามกลางวิกฤตนี้ที่กำลังจะเกิด ผมก็จะทำ ผมไม่ได้สนใจว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือใครจะมาเป็นตำแหน่งใด ผมเลยมันมาแล้ว” นายจตุพร กล่าว

ด้านนางธิดา ที่ปรึกษา นปช. และภรรยา นพ.เหวง กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเตรียมตัวคือ ทำอย่างไรให้สามารถเยี่ยมได้บ่อยมากขึ้น แล้วเข้าใจว่าขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยน แม้ว่าจะถูกจำกัดอิสรภาพ แต่ว่าเมื่อไปอยู่ในเรือนจำ เราเข้าใจว่าสถานการณ์เรือนจำเปลี่ยนไป โดยทำให้คนที่อยู่ในคุกได้ใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์ให้มากที่สุด และจำเลยที่เข้าคุกวันนี้เป็นบุคคลที่มีประโยชน์ มีทัศนคติในทางที่ดี น่าจะมีโอกาสได้ทำงานต่อสังคมได้ แม้จะถูกคุมขังอยู่ในคุก หวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่ดีพอสมควร แม้จะมีความคิดเห็นต่างทางการเมือง และไม่ใช่อาชญากร หวังว่าสื่อจะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในเรือนจำได้
นางสิริสกุล ใสยเกื้อ ภรรยาของนายณัฐวุฒิ เปิดเผยหลังศาลมีคำพิพากษาว่า จะเดินทางไปเยี่ยมนายณัฐวุฒิที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อ เนื่องจากยังไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามา ก่อนหน้านี้ก็มีการเตรียมใจกันมา ส่วนจะมีการดำเนินการใดๆ ทางคดีต่อหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนายณัฐวุฒิตัดสินใจ ตนต้องปรึกษาก่อน
















กำลังโหลดความคิดเห็น