“คำนูณ” จี้ถาม ทส.แจงปมรื้อถอนบ้านบอมเบย์เบอร์มา “วราวุธ” ขอโทษคนแพร่ โยน จนท.ทำไม่เห็นหัวชาวบ้าน สั่งตั้ง กก.สอบ พร้อมสั่งย้าย หน.รุกขชาติ ลั่นหากผิดจริงไม่ปกป้อง
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภาได้มีการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาของนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. เรื่องการรื้อถอนโบราณสถาน “บ้านบอมเบย์เบอร์มา” ที่จังหวัดแพร่ โดยนายคำนูณกล่าวว่า ขณะนี้เกิดการกระทำผิดกฎหมายชัดแจ้ง โดยเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาด้วย เพราะอาคารแห่งนี้ถือเป็นโบราณสถาน อาจมีความเข้าใจผิดเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโบราณสถานแล้วจะต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมศิลปากรเท่านั้น เพราะตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้นิยามคำว่า “โบราณสถาน” หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งจากมาตรา 4 ดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเป็นโบราณสถานตามนิยามของกฎหมายไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด
นายคำนูณกล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งการดำเนินการตามกฎหมายและการซ่อมแซมให้เหมือนเดิมมากที่สุด และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกซึ่งคณะรัฐมนตรีจะต้องหาแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาต่อไปด้วย
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เราขอโทษที่ทำให้คนแพร่เสียความรู้สึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นอาคารแห่งนี้ได้โอนมาให้อยู่ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การของบประมาณซ่อมแซมเริ่มตั้งปี 2561 ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น คือ เจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำโดยเห็นหัวอกของประชาชน การกระทำใดๆ ของภาคราชการจะต้องถือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ
“ขณะนี้ได้ให้กรมอุทยานฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน และย้ายหัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวัน และหากพบว่ามีการกระทำความผิด ผมจะไม่ปกป้อง ขอย้ำอีกว่าผมขอโทษที่ให้สัมภาษณ์เร็วไปโดยยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เบื้องต้นกรมอุทยานฯ จะขอรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อให้อาคารนั้นกลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด และประสานงานกับกรมศิลปากรเพื่อร่วมดำเนินการซ่อมแซมต่อไป ส่วนไม้ที่ถูกคัดแยกออกมานั้นเราจะดูแลให้ดีที่สุด และหากใครมีข้อมูลว่ามีการเอาไม้ไปขาย ขอให้แจ้งเข้ามา ทางกระทรวงฯ จะดำเนินการอย่างถึงที่สุด” นายวราวุธกล่าว
นายวราวุธกล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจความรู้สึกของคนจังหวัดแพร่ เพราะที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีอาคารเก่าจำนวนมาก หากเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้คนสุพรรณบุรีย่อมไม่พอใจเช่นกัน แต่เมื่อปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วกระทรวงฯ จะดำเนินการแก้ไขให้ดีที่สุด