xs
xsm
sm
md
lg

รวมพลคนไม่แคร์เจ๊! “กลุ่มแคร์” หน้าเดิมๆ “คนเพื่อแม้ว” สบช่องนายใหญ่ตัดรำคาญ อยู่ไม่ไหวก็ไปตั้งพรรคใหม่ **หาเรื่องอีกแล้ว “คณะก้าวหน้า” จัดหลักสูตร Covid-1984 แฝงนัยอะไร ** “สนธิรัตน์” ยุติปมการเมืองแก้ปัญหาพืชพลังงาน เริ่มที่ “บล็อกเชนปาล์มน้ำมัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, ภูมิธรรม เวชยชัย, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
คนปนข่าว

** รวมพลคนไม่แคร์เจ๊!! กางชื่อผู้ก่อการ “กลุ่มแคร์” หน้าเดิมๆ “คนเพื่อแม้ว” สบช่อง “นายใหญ่” ตัดรำคาญ อยู่ (เพื่อไทย) ไม่ไหวก็ไปตั้งพรรคใหม่ เปิดหน้าฉากเห็นไปถึง “เถ้าแก่” ปลายทางจะห่วงใยประเทศ หรือห่วงใยใคร ไม่ต้องเดา

ไปต่อไม่รอแล้วนะ ... ปล่อยข่าวโยนหินถามทางไม่นาน ไม่ทันรอฟังกระแส ที่สุด “กลุ่มแคร์” ที่แตกตัวออกจากพรรคเพื่อไทย ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการ “ซอฟต์โอเพนนิ่ง” ไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเฟซบุ๊กเพจ “CARE คิด เคลื่อน ไทย”...ก่อนนัดหมาย “แกรนด์โอเพนนิ่ง” อีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ในงานเสวนาที่ใช้ชื่อว่า “10 วันอันตราย ทางเลือกหรือทางรอด” โดยได้เชิญ บรรยง พงษ์พานิช - ดวงฤทธิ์ บุนนาค - ศุภวุฒิ สายเชื้อ - สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี”... สถานที่ไม่ใกล้ไม่ไกล “วอยซ์ สเปซ” สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ถ.วิภาวดีรังสิต หรือที่รู้กันว่าเป็น “โอ๊คทีวี” เพราะรู้กันดีว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ของ “ยอดชายนายโอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ก็ชัดว่ากลุ่มใหม่ที่ว่านี่ใครเป็นเจ้าของ

ยิ่งไปกว่านั้น “คณะผู้ก่อการ” ก็ยิ่งชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น “เฮียอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตนายทุนพรรคไทยรักไทย “หมอมิ้ง” พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ “หมอเลี้ยบ” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิด “เถ้าแก่ทักษิณ” ทั้งสิ้น .. โดยในคลิปเปิดตัวที่ปล่อยผ่านเพจเฟซบุ๊ก “CARE คิด เคลื่อน ไทย” ความยาว 5 นาที ในหัวข้อ “ทำไมเราถึง CARE?” ให้ 7 สมาชิกเริ่มต้น ประกอบด้วย “เสี่ยด้วง” ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ, “เสี่ยกุ๊ก” พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล บุตรชายของนายพงษ์ศักดิ์, “หมอมิ้งค์” พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี, “เฮียอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, “เจ๊แขก” หรือ “คำ ผกา” ลักขณา ปันวิชัย พิธีกรสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี, “พี่แหม่ม” วีรพร นิติประภา นักเขียนนวนิยายรางวัลซีไรต์ และ “หมอเลี้ยบ” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี

แคมเปญเปิดตัว ตกหล่นไปเพียง “เฮียเพ้ง” ที่อาจจะเหนียมหน่อยๆ เพราะเคยประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้วเมื่อปีกลาย แต่ก็ได้ทีดัน “เสี่ยกุ๊ก” พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล ลูกชายตัวเองเข้าสู่ถนนสายการเมืองเต็มตัว

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า เป็นการคิกออฟที่ “มืออาชีพ” เพราะโยนหินถามทางมาได้ไม่ถึงเดือนดี

และเอาเข้าจริง ที่มาที่ไปของ “กลุ่มแคร์” ก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากนัก เป็นเรื่องของ “คนไม่แคร์เจ๊” อ้างปัญหาการบริหารจัดการในพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นั่นเอง ว่ากันไปอีกว่า เอาเข้าจริงบางคนในกลุ่มอยากตั้งชื่อว่า “กลุ่มไม่แคร์ (เจ๊)” ด้วยซ้ำ แต่โดนท้วงคำว่า “ไม่” ออกแนว “เนกาทีฟ” ไปซักนิด

แม้ “ทักษิณ” ที่หนีคดีอยู่แดนไกล จะบอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ก็รับว่า “มีคนโทร.มาบอก” ทว่า ความจริงคือมีคนโทรไปฟ้องเรื่อง “เจ๊” ให้ฟังบ่อยครั้ง ฟังบ่อยเข้า “เถ้าแก่ทักษิณ” ก็เอียน ถึงขนาดถามกลับว่า “มันขนาดนั้นเลยหรือวะ...” แล้วตัดรำคาญทำนอง “..ทนไม่ไหว ก็ไปตั้งพรรคใหม่”

นี่แหละที่มาของ “กลุ่มแคร์” ของ “คนไม่แคร์ (เจ๊)” ไม่ได้ลึกซึ้งที่ว่าคำว่า CARE (แคร์) ย่อมาจาก C คือ Creative, A คือ Action for, R คือ Revival และ E คือ & People Empowerment

ที่สำคัญ “ตัวเร่ง” ที่ทำให้ “กลุ่มแคร์” คิดเร็วทำเร็วขึ้น ก็ต้องย้อนกลับไปการประชุมพรรคเพื่อไทยสัปดาห์ก่อน ที่ “ทีมเจ๊” เปิดฟลอร์ถล่ม “กลุ่มแคร์” ซะไม่มีชิ้นดี โดยระบุถึง “ผู้ใหญ่” ในพรรคแม้ไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่ก็รู้กันดีว่าหมายถึง ใครที่จะแยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ พอเรื่องไปถูกหู “เฮีย” ทุกอย่างก็เลยถูกเร่งให้เร็วกว่ากำหนด

หรือที่บอกว่ายังไม่คิดเรื่องตั้งพรรค แต่วางเงินล้านเอาไอติมแท่งเดียวเลยว่า ปลายทางของ “กลุ่มแคร์” ไม่พ้นพรรคการเมือง แล้วก็ไม่ใช่พรรคเดียวซะด้วย

และถึงจะพยายามสร้างภาพว่า “กลุ่มแคร์” เป็น “คณะผู้ห่วงใยประเทศ” แต่ก็ซ่อน “เถ้าแก่” ไม่มิด จะสร้างกลุ่ม-ตั้งพรรค ยังต้องรอไฟเขียวจาก “เถ้าแก่” สุดท้ายจะห่วงใยประเทศ หรือห่วงใยใคร คงไม่ต้องเดา

**หาเรื่องอีกแล้ว “คณะก้าวหน้า” จัดหลักสูตรพิเศษหลังโควิด ใช้ชื่อ “Covid-1984” แฝงนัยอะไร

อยู่นิ่งไม่เป็นจริงๆ “คณะก้าวหน้า” ที่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นหัวหน้าคณะ และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เป็นเลขาธิการ เตรียมจัด Common School ชวนทุกคนมาสำรวจโครงสร้างประเทศไทยผ่านมุมมองใหม่ว่าด้วยรัฐ ตลาด งบประมาณ อำนาจ ระบบราชการ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนความมั่นคงของโลกหลังโควิด ในหลักสูตรพิเศษ “Covid-1984” เปิดให้รับชมทางช่อง Youtube “คณะก้าวหน้า - Progressive Movement” ทุกวันอาทิตย์ ประเดิมวันที่ 14 มิถุนายน เป็นต้นไป

เนื้อหาก็มี อาทิ สิ่งที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” คืออะไร?, เราได้อะไร และเราต้องเสียอะไรไปในการใช้ “สภาวะยกเว้น” แล้วมันจำเป็นจริงๆ หรือ?, ทำไมการใช้งบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 3.2 ล้านล้านบาท และการใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิด อีกนับล้านล้านบาท จึงเป็นหมุดหมายสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยอีกหลายสิบปีข้างหน้านี้, ระเบียบโลกใหม่และภัยคุกคามความมั่นคงในโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร? เป็นต้น

ส่วนวิทยากรก็ไม่ใช่ใครอื่น ล้วนขาประจำที่คุ้นเคยทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุรชาติ บำรุงสุข, ประจักษ์ ก้องกีรติ, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, ศิริกัญญา ตันสกุล, ปิยบุตร แสงกนกกุล และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

การจัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนมันก็ดีอยู่หรอก ควรแก่การยกย่องสรรเสริญด้วยซ้ำ แต่เมื่อสังเกตให้ดี ก็จะเห็นว่า ชื่อหลักสูตร “Covid-1984” นั้น มันมีอะไรเป็นพิเศษ แทนที่จะเป็น “Covid-19” ตามชื่อของไวรัส กลับมีตัวเลข 1984 โผล่เข้ามาแทน คล้ายๆ กับว่าจงใจจะให้พ้องกับชื่อหนังสือ “1984” หรือไม่

1984 หรือ nineteen eighty four เป็นบทประพันธ์ชิ้นเอกของ “จอร์จ ออร์เวลล์” นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1949 ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติลง เพื่อสะท้อนให้เห็นสังคมแบบฟาสซิสต์ หรืออำนาจนิยมของรัฐบาล เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในประเทศที่มีชื่อว่าโอเชียเนีย ภายใต้ระบอบการปกครอง ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีความคิดที่แตกต่างจากชุดความคิดที่กำหนดขึ้นโดยผู้มีอำนาจ

นักวิชาการไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าหลายคนมักเปรียบเทียบสังคมไทยกับหนังสือ “เรื่อง 1984” ซึ่งสะท้อนถึงสังคมที่ปิดกั้น ไม่ให้ประชาชนมีเสรีภาพในทางความคิด บางคนถึงขั้นโยงไปถึง มาตรา 112 ก็มี

จึงน่าคิดว่า รหัสนัย “1984” ที่ล้อมาจากชื่อหนังสือเล่มนี้จะสะท้อนแนวทางการต่อสู้ของคู่หู “ธนาธร-ปิยบุตร” ในขั้นต่อไปหรือไม่

** สนธิรัตน์ยุติปมการเมือง ดันมิติใหม่แก้ปัญหาพืชพลังงาน เริ่มที่ บล็อกเชนปาล์มน้ำมัน

การเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไร เห็นว่า “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน และรักษาการเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ข่วงนี้ขอยุติปมประเด็นทั้งหลายไว้ เพื่อก้มหน้าก้มตาทำงานตามภาระหน้าที่

หนึ่งในภาระหน้าที่ของ รมว.พลังงาน ที่กำลังเป็นที่พูดถึง คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น บล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใข้แก้ปัญหาพืชเศรษฐกิจอย่างปาล์มน้ำมัน ซึ่งเมื่อวันก่อน (12 มิ.ย.) ได้เปิดนำร่องซื้อขายกันจริงไปแล้ว

ว่ากันว่า “ระบบบล็อกเชน” เป็นมิติใหม่สำหรับพืชเศรษฐกิจนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการซื้อขายปาล์มน้ำมันเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตชาวเกษตรกรสวนปาล์ม เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อการดูแลการซื้อขายปาล์มน้ำมันทั้งระบบ โดยวิธีการขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมัน มาตรา 7 ซื้อน้ำมัน B100 จากผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ Blockchain เท่านั้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาการกดราคาผลผลิตปาล์มและป้องกันการลักลอบนำเข้า น้ำมันปาล์มดิบ (CPO)

การนำ “บล็อกเชน” มาใช้ในระบบปาล์มน้ำมันก็ไม่ยุ่งยาก เกษตรกรเข้าถึงได้จากแพลตฟอร์มผ่านแอปพลิเคชันมือถือ ที่เกษตรกรลงทะเบียนไว้แล้วกรอกข้อมูลลงในระบบ ใช้งานง่าย และลดขั้นตอนความยุ่งยาก

เมื่อมีการซื้อขายผ่านบล็อกเชน ผู้ดูแลหรือกระทั่งรัฐสามารถควบคุม ติดตาม มีการเก็บข้อมูลการซื้อขายปาล์มได้อย่างครบวงจร หากเกิดมีปัญหาต้องแก้ไข เช่น ผลผลิตล้นตลาด ที่จะทำให้ราคาปาล์มตกต่ำในฤดูกาลผลิต ก็แก้ไขได้ทันทีจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในระบบ

“บล็อกเชน” ยังจะช่วยให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นน้ำได้ว่า เกษตรกรจะได้ราคาที่เป็นธรรม และเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้า CPO เพราะบังคับให้โรงกลั่นต้องซื้อ CPO จากบล็อกเชนเท่านั้น และทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน และความสมดุลต่อภาคอุตสาหกรรม รวมถึงทำให้ธุรกิจปาล์มน้ำมัน มีการผลิตและเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต

หลังผลักดันบล็อกเชนปาล์มน้ำมัน ฟังว่า “สนธิรัตน์” จะใช้มิติพลังงานแก้ปัญหาพืชผลการเกษตรอื่นๆ ไปด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน และก็มีโอกาสที่จะขยายไปสู่พืชพลังงานตัวอื่น เช่น อ้อย และ มันสำปะหลัง

นี่ก็ต้องยอมรับและควรพูดถึงว่า คือ ตัวอย่างของการนำ เศรษฐกิจดิจิทัล มาใช้และจับต้องได้จริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น