“คณะก้าวหน้า” ประเดิม “ทำงานความคิด” ด้วยหลักสูตรพิเศษ “Covid-1984” ขนนักวิชาการขาประจำมาเพียบ โฟกัส “1984” คือ หนังสือสะท้อนสังคมที่ถูกปิดกั้น สิทธิเสรีภาพในทางความคิดที่นักวิชาการชอบเปรียบกับไทย
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (14 มิ.ย. 63) เฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า - Progressive Movement โพสต์ข้อความระบุว่า
“การสร้างภูมิปัญญาของสังคมเริ่มต้นด้วยการเข้าถึงความรู้สาธารณะที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้เรียนรู้ ถกเถียง แลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม ทำความเข้าใจอดีตและปัจจุบันอย่างเท่าทัน เพื่อเตรียมรับมือกับโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม
Common School โดยคณะก้าวหน้า ขอชวนทุกคนมาสำรวจโครงสร้างประเทศไทยผ่านมุมมองใหม่ว่าด้วยรัฐ ตลาด งบประมาณ อำนาจ ระบบราชการ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนความมั่นคงของโลกหลังโควิด ในหลักสูตรพิเศษ “Covid-1984”
หากคุณสนใจคำถามเหล่านี้ เดินมาเข้า Common School โดยพลัน
- สิ่งที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” คืออะไร?
- เราได้อะไร และเราต้องเสียอะไรไปในการใช้ “สภาวะยกเว้น” แล้วมันจำเป็นจริงๆ หรือ?
- ทำไมการใช้งบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 3.2 ล้านล้านบาท และการใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิดอีกนับล้านล้านบาท จึงเป็นหมุดหมายสำคัญต่ออนาคตประเทศไทยอีกหลายสิบปีข้างหน้านี้?
- เหตุใดเกาหลีใต้และไต้หวันที่เคยพัฒนามาไล่เลี่ยกับไทย จึงแซงเราไปไกลหลุดพ้นการเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้?
- ห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วไทยควรอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่การผลิตของโลก?
- ระเบียบโลกใหม่และภัยคุกคามความมั่นคงในโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร?
เตรียมพบกับ นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุรชาติ บำรุงสุข, ประจักษ์ ก้องกีรติ, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, ศิริกัญญา ตันสกุล, ปิยบุตร แสงกนกกุล และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
รับชมพร้อมกันที่ Youtube คณะก้าวหน้า - Progressive Movement ทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 14 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป...
ทั้งนี้ คณะก้าวหน้า ยังเปิดเผยด้วยว่า มีการเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ ร่วมบรรยายในหัวข้อสำคัญ อาทิ สัมภาษณ์พิเศษเปิดหลักสูตร โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์, “ระเบียบโลกใหม่ : ภัยคุกคามและความมั่นคงในโลกหลังโควิด” โดย สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “กายวิภาครัฐไทย : กลไกอำนาจรัฐและอำนาจนำในสังคมไทย” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,
“การไล่กวดทางเศรษฐกิจ : ถอดวิธีคิดเอเชียตะวันออก” โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง GRIPS, Tokyo, “ผ่างบประมาณแผ่นดิน : เส้นเลือดใหญ่ไร้ประสิทธิภาพ” โดย ศิริกัญญา ตันสกุล อดีตนักวิชาการเศรษฐศาสตร์และ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล, “New Normal : การทำให้ระบอบอำนาจนิยมกลายเป็นเรื่องปกติถาวร” โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ “มองโลกผ่านซัพพลายเชน : จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า
นอกจากนี้ นายปิยบุตร เลขาธิการคณะก้าวหน้า และผู้อำนวยการหลักสูตรของ Common School ระบุว่า การเกิดขึ้นของ Common School ในครั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตนเคยประกาศไว้เมื่อก่อตั้งคณะก้าวหน้าใหม่ๆ เนื่องด้วยเราเห็นว่าการเอาชนะกันในทางการเมืองที่แท้จริง คือ การเอาชนะกันในทางความคิด คณะก้าวหน้าต้องมุ่งทำงานในทางความคิด ปักธงวาระก้าวหน้าให้กับสังคมไทย เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ คณะก้าวหน้าจึงตั้ง Common School ขึ้นมาเพื่อทำงานรณรงค์ทางความคิดแบบก้าวหน้า และฝึกอบรมเรื่องการเมืองและประชาธิปไตย ให้องค์ความรู้กับสังคมไทย
“ภารกิจหลักของ Common School คือ การรณรงค์ทางความคิดแบบก้าวหน้า และมุ่งเอาชนะในทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ก้าวหน้า และเพื่อก่อร่าง “ประชาชน” ให้กลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริง เราเชื่อในความเป็นไปได้ว่า สังคมที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้หากความคิดคนในสังคมยังไม่เปลี่ยน แต่สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเปิดตัวโรงเรียนเล็กน้อย โดยมุ่งเน้นการเป็นหลักสูตรออนไลน์ไปก่อนในช่วงแรก แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีด้วยที่เราจะได้พูดถึงเรื่องของวิกฤตการณ์ดังกล่าว”....
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สังเกตให้ดี ก็จะไม่เห็นว่า หลักสูตรพิเศษ “Covid-1984” นั้น มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะพบว่า มีรหัสนัย “1984” โผล่เข้ามา และแทนที่จะเป็น 19 ชื่อของไวรัส
เรื่องนี้จากการสืบค้น ปรากฏว่า มีการเรียบเรียงเกี่ยวกับหนังสือชื่อ 1984 เอาไว้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 หัวเรื่อง “1984 กับประเทศไทย : สังคมที่ไร้เสรีภาพทางความคิด”
เนื้อหาระบุว่า “นักวิชาการหลายคน มักเปรียบเทียบสังคมไทย กับหนังสือเรื่อง 1984 ซึ่งสะท้อนถึงสังคมที่ปิดกั้น ไม่ให้ประชาชนมีเสรีภาพในทางความคิด
1984 หรือ nineteen eighty four เป็นบทประพันธ์ชิ้นเอกของ จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1949 ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติลง เพื่อสะท้อนให้เห็นสังคมแบบฟาสซิสต์ และได้รับความนิยมจนมีการสร้างเป็นภาพยนตร์
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นในประเทศที่มีชื่อว่า โอเชียเนีย ซึ่งปกครองด้วยพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า “English Socialism” หรือ “Ingsoc” โดยระบอบการปกครอง ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชน มีความคิดที่แตกต่าง จากชุดความคิดที่กำหนดขึ้นโดยผู้มีอำนาจ
ดังนั้น พรรค Ingsoc จึงต้องควบคุมประชาชนให้มีความคิด คำพูด และการกระทำที่เหมือนกัน โดยเครื่องมือที่ Ingsoc ใช้ คือ การลงโทษและการโฆษณาชวนเชื่อ ผ่านโทรภาพ การคิดค้นภาษาขึ้นใหม่ และการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นทดแทนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอดีต
นางสาววันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเปรียบเทียบสังคมในหนังสือเรื่อง 1984 กับสังคมไทย ว่า เมื่อผู้อ่านได้อ่านหนังสือเรื่อง 1984 สิ่งที่ผู้อ่านถูกทำให้รู้สึก ก็คือ สังคมในประเทศโอเชียเนีย ไม่มีความเสรี และรู้สึกอึดอัดกับการบีบบังคับผ่านวิธีการต่างๆ ของ Ingsoc แต่ในขณะเดียวกัน คนไทยกลับไม่ตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยเองก็มีปัญหาในเรื่องเสรีภาพทางความคิด ซึ่งอาจเป็นเพราะวิธีการควบคุมประชาชนในสังคมไทย ทำได้แยบยลกว่าวิธีการในหนังสือเรื่อง 1984
ส่วนตอนจบของหนังสือเล่มนี้ ตัวแสดงหลักของเรื่อง ซึ่งเริ่มรับรู้ถึงความไม่ปกติของสังคม ก็ต้องยอมสละข้อสงสัยเหล่านั้น เพื่อแลกกับเสรีภาพทางร่างกาย เช่นเดียวกับจำเลยที่ถูกฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในประเทศไทยอีกหลายคน ที่ต้องยอมรับสารภาพ กักขังความคิด เพื่อแลกกับเสรีภาพทางร่างกายเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นางสาววันรัก ยังมองว่า สังคมไทยยังคงมีอนาคตที่จะพัฒนาไปสู่สังคมที่มีเสรีภาพทางความคิดมากขึ้น หากประชาชนในสังคมตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคมขณะนี้ และเรียนรู้ที่จะอดทนอดกลั้นกับความเห็นต่าง ขณะเดียวกัน สื่อก็ต้องทำหน้าที่เปิดความรู้ เปิดจินตนาการให้กับคนในสังคม และเลิกเซนเซอร์ตัวเองเสียที (Produced by Voice TV)....
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงน่าคิดว่า รหัสนัย “1984” ของ “ปิยบุตร” และคณะก้าวหน้า อาจล้อมาจากชื่อหนังสือเล่มนี้ก็เป็นได้ เพราะเรื่องราวในหนังสือ สอดคล้องกับสิ่งที่ “ปิยบุตร-ธนาธร” มองสังคมไทยมาตลอด
จึงนับว่าน่าจับตามอง “เกม” ต่อสู้นับแต่นี้ จะไม่มีเพียงแค่บนสังเวียน “สังคมออนไลน์” เท่านั้น อย่างที่ “ปิยบุตร” ว่า การเอาชนะกันในทางการเมืองที่แท้จริง คือ การเอาชนะกันในทางความคิด หรือนัยหนึ่งก็คือ ถ้าจะเปลี่ยนประเทศให้ได้ ก็ต้องเปลี่ยนความคิดคนไทยให้ได้ก่อน นั่นเอง