น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย 5 ส.ส.กทม. ของพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ และ นายศิริพงษ์ รัสมี ลงพื้นที่รับฟังข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างอาคารของกระทรวงการคลัง และอาคารสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่บริเวณใต้ทางด่วนข้างกระทรวงการคลัง
โดยมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกระทรวงการคลัง และตัวแทนจากชมรมอนุรักษ์พญาไท ได้มาสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวแทนประชาชนได้บอกว่า ที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องไปยังกระทรวงการคลังมาเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุใดหน่วยงานของรัฐสามารถสร้างอาคารที่สูงถึง 21 ชั้น โดยที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และยังมีการก่อสร้างตลอดทั้งวันทั้งคืน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ด้าน น.ส.ภาดาท์ ซึ่งเป็น ส.ส.เจ้าของพื้นที่ กล่าวว่า วันนี้ตนและเพื่อนๆ ส.ส.ได้แสดงความจริงใจในการมารับฟังปัญหา เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบ และจะหาช่องทางเพื่อผลักดันต่อให้เป็นรูปธรรม เช่น ผ่านช่องทางของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งส่วนตัวตนก็ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่อาคารของรัฐไม่ต้องจัดทำ EIA เพราะอาคารทุกอาคารเมื่อมีการก่อสร้างก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาคารของรัฐ หรือเอกชน ก็จะคิดว่าจะต้องจัดทำ EIA เหมือนกัน ซึ่งในส่วนนี้ตนจะนำปัญหานี้เข้าไปผลักดันในตัวของข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน น.ส.วทันยา ได้ย้ำถึงความจริงใจในการที่ต้องการแก้ปัญหาให้กับประชาชน แต่ด้วย ส.ส.ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายได้โดยตรง แต่ ส.ส.สามารถรับฟังปัญหาและสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมยืนยันว่าจะนำปัญหาที่ได้รับฟังในวันนี้ไปสะท้อนต่อสภาผู่แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า รวมถึงในส่วนของกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องจะได้มีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่า จะติดตามและผลักดันปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ น.ส.กรณิศ ได้เสนอว่าจะนำปัญหาที่ได้รับฟังในวันนี้ไปตั้งกระทู้ถามเฉพาะ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาชี้แจง และอาจจะได้มีการตัวแทนเชิญผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปร่วมรับฟังด้วย ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้คิดว่าน่าจะสามารถทำได้เร็วกว่าการเสนอญัตติต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากปัจจุบันมีญัตติค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนมาก หากยื่นเป็นญัตติไป คาดว่า คงต้องใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าจะได้มีการพิจารณา