xs
xsm
sm
md
lg

“ประวิตร” เร่งเตรียมน้ำต้นทุนบนดิน-ใต้ดิน ช่วยเกษตรกรหลังโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิ๊กป้อม” สั่งเร่งเตรียมน้ำต้นทุนทั้งบนดินและใต้ดิน ช่วยเกษตรกรหลัง COVID-19 ยกต้นแบบน้ำบาดาลเมืองเลย ขยายผลรับพื้นที่ภัยแล้ง

วันนี้ (10 มิ.ย.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.และคณะ ได้เดินทางไปราชการจังหวัดเลย เพื่อติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้ตรวจเยี่ยมโครงการเจาะบ่อบาดาลเสริมให้กับแหล่งน้ำดิบ 4 พื้นที่ เพื่อใช้เป็นน้ำดื่มสะอาดให้กับชุมชน ต.นาโป่ง อ.เมืองฯ จ.เลย ต่อจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมผลผลิตทางการเกษตรจากน้ำบาดาลและกระทำพิธีเปิดส่งมอบบ่อบาดาล พร้อมระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ให้แก่ชุมชนบ้านสะอาด ต.น้ำสวย โดยมี ผวจ.เลย นายกเทศมนตรี ต.น้ำสวย และเกษตรกรในพื้นที่ร่วมรับมอบ


พล.อ.ประวิตรได้กล่าวในนามรัฐบาล แสดงถึงความห่วงใยและทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งและการซ้ำเติมจากภาวะโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้น จึงต้องเร่งขับเคลื่อนทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นการเร่งด่วน และเตรียมน้ำต้นทุนทั้งบนดินและใต้ดินให้พร้อม รองรับการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ภัยแล้ง

โดยชื่นชมกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่ริเริ่มดำเนินโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ นำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ลำพูน เพชรบูรณ์ ยโสธร สระแก้ว และเลย ให้ได้ประโยชน์และเพียงพอในพื้นที่ตลอดทั้งปี ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการพัฒนาน้ำบาดาลต้นแบบในการแก้ปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำกับพื้นที่อื่นๆ จึงขอให้ผู้นำท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมทำความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกรถึงการใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาและเน้นปลูกพืชใช้น้ำน้อยและขายได้ในราคาสูง

พล.อ.ประวิตรยังได้ย้ำให้ ทส.ประสานทำงานร่วมกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งขยายผลโครงการพัฒนาน้ำบาดาลต้นแบบ ควบคู่ไปกับการเตรียมจัดเก็บกักน้ำผิวดินในฤดูฝนอย่างจริงจัง เพื่อบริหารจัดการและกระจายน้ำใช้ประโยชน์ให้ครอบคลุมทั่วถึงเพียงพอตลอดปี ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรในทุกพื้นที่ภัยแล้ง รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้สามารถเพาะปลูกฟื้นตัวหลังวิกฤต COVID-19 โดยต้องทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้สามารถใช้น้ำบาดาลควบคู่ไปกับการใช้น้ำผิวดินได้อย่างไม่ขาดแคลน เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี


กำลังโหลดความคิดเห็น