สลค.เวียน 7 ข้อสั่งการนายกฯ ให้หัวหน้าส่วนราชการทบทวนรายละเอียดคำของบฯ 64 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด พร้อมปรับแผนใช้จ่ายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สั่งพัฒนา ขรก.เข้าถึง Big Data-เตรียมมาตรการรองรับเปิดประเทศ ฟื้น “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” เตรียมแผนขนาดเล็กสร้างรายได้ชุมชน ปรับความคล่องตัวในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
วันนี้ (9 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือแจ้งผลการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าครั้งที่ 2/2563 มีประเด็นข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนี้
1. ให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับการบริหารราชการและการบริหารงบประมาณ ตามแนวทาง ดังนี้
1.1. เร่งรัด ขับเคลื่อนการปฏิบัติราชการและการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาส ที่ 3 และ 4 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดตามแผนปฏิบัติราชการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
1.2. ให้สำนักงบประมาณและส่วนราชการพิจารณาทบทวนรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยให้คำนึงถึงกรณีสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดวงเงิน งบประมาณลงเพิ่มเติมอีก
1.3. ให้ทุกส่วนราชการพิจารณากำหนดแผนปฏิบัติราชการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สามารถขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย และสามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามที่กำหนดได้ โดยชอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นหลักคิดในการกำหนดแผนงาน/โครงการด้วย
2. ให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พร้อมต่อการทำงานที่ต้องอาศัยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
3. ให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการให้บริการพิจารณาจัดเตรียมมาตรการหรือแนวทางการดำเนินการเพื่อรองรับการเปิดประเทศ อาทิ มาตรการด้านภาษี การตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตชองด่านตรวจคนเข้าเมือง (VISA on Arrival) การขนส่งสินค้า (Logistics) การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน การสร้างแพลตฟอร์มรองรับการให้บริการจองที่พัก
4. ให้ทุกส่วนราชการเตรียมจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรี จะกำหนดออกมาในภายหลัง โดยขอให้มุ่งเน้นการดำเนินโครงการขนาดเล็กที่สามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในระดับท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
5. ให้กระทรวงการคลังปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้กระบวนการมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นกลไกในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย พิจารณาการปรับปรุงแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น การคมนาคมขนส่งทางบก การชลประทาน การสร้างบ่อนํ้าบาดาล โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการขนาดเล็ก ที่สามารถขยายผล ต่อยอด หรือเชื่อมโยงกับโครงการขนาดใหญ่ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเข้าถึงความจำเป็นของประชาชนและชุมชนได้มากขึ้น อาทิ การสร้างถนนขนาดเล็ก เพื่อเชื่อมโยงหมู่บ้านที่ห่างไกลเข้ากับพื้นที่เมือง
7. ท้ายสุดให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ (Work from Home) อย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับลักษณะงาน ทั้งนี้ ให้มีการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินการตาม นโยบายดังกล่าวด้วย