กกต.ตอบกลับ ภท. ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นโปรโมตตัวเองได้ เท่าที่ไม่ขัด กม.เลือกตั้งท้องถิ่น-ประกาศ คสช. ส่วนการช่วย ปชช.ช่วงโควิด หากใช้เงินตัวเอง-เงินพรรค ถ้าไม่จูงใจให้ไปลงคะแนนให้ ไม่ถือว่าผิด ส่วนใช้เงินราชการได้ตามนโยบาย
วันนี้ (8 มิ.ย.) สำนักงาน กกต.ได้เผยแพร่หนังสือตอบข้อสอบถามของพรรคภูมิใจไทยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ข้อสอบถามที่ 1 ตามมาตรา 61 พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดระยะเวลาคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครสำหรับการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และตามมาตรา 64 ของกฎหมายเดียวกัน กำหนดให้ผู้สมัครหาเสียงได้ตามห้วงเวลาที่กำหนดนั้น ระยะเวลาในการคำนวณการหาเสียงของผู้สมัคร ถือว่าเป็นเหตุที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากตำแหน่งว่างเพราะครบวาระ ตามมาตรา 64 (3) หรือไม่ และหากไม่ใช่ตามมาตรา 64 (3) การคำนวณค่าใช้จ่ายและการหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรกจะเริ่มกระทำได้นับจากเวลาใดถึงเวลาใด ซึ่ง กกต.ตอบเพียงว่า เห็นว่าไม่ใช่กรณีตามมาตรา 64 (3) ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ส่วนคำถามที่ 2 ถามว่าในระหว่างที่ตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นยังไม่ว่างลง ยังไม่มีประกาศให้มีหารเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้ที่ประสงค์แสดงตนว่าจะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ จะสามารถหาเสียง เช่น ขึ้นป้ายแนะนำตัว จัดเวทีปราศรัย จัดทำเอกสารแผ่นพับแจกจ่าย หรือการกระทำในลักษณะที่ทำให้เข้าใจโดยทั่วไปว่าตนจะสมัครรับเลือกตั้ง จะสามารถกระทำได้หรือไม่อย่างไร และจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 64 หรือไม่ ซึ่ง กกต.ตอบว่าสามารถดำเนินการได้ เท่าที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่
ส่วนคำถามที่ 3 ในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้มีการระดมความช่วยเหลือประชาชนชนโดยทั่วไปนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ได้กระทำการโดยวิธีการนำเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไปแจกจ่ายให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัดหรือศาสนสถานอื่น สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากการระบาดของโรคนั้น กรณีที่เป็นเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของตนเอง กรณีเป็นเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง กรณีที่เป็นเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของทางราชการที่ได้รับอนุมัติตามระเบียบกฎหมายแล้ว การกระทำในแต่ละกรณีเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 64 ของกฎหมายดังกล่าวหรือกฎหมายอื่นใดหรือไม่ ซึ่ง กกต.ตอบว่า กรณีที่เป็นเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของตนเอง กรณีเป็นเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง หากไม่ได้กระทำเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ย่อมสามารถกระทำได้ ส่วนกรณีที่เป็นเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของทางราชการที่ได้รับอนุมัติตามระเบียบกฎหมายแล้วนั้น หากเป็นการดำเนินการตามนโยบายหรือการดำเนินการตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยวิธีการใช้จ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ย่อมสามารถกระทำได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดว่า เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้ผู้สมัคร หาเสียงเลือกตั้งได้ภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากครบวาระหรือครบอายุ ให้กระทำได้ตั้งแต่ 180 วันก่อนวันครบวาระหรือครบอายุจนถึงเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง (2) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากมีการยุบสภาหรือถือว่ามีการยุบสภา ให้กระทำได้ ตั้งแต่วันยุบสภาหรือวันที่ถือว่ามีการยุบสภาจนถึงเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง (3) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากตำแหน่งว่างอันมิใช่เพราะเหตุครบวาระหรือ ครบอายุ ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่ตำแหน่งว่างลงจนถึงเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง (4) ในกรณีมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนถึงเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง และ (5) ในกรณีมีการสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ผู้ใดจะหาเสียงเลือกตั้งมิได้ เว้นแต่ กกต.จะมีมติเป็นอย่างอื่นโดยคำนึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม